ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีมีประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 เมษายน 2559 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติให้ถูกต้อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการกำหนดวันออกเสียงประชามติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ กกต.ชดใช้เงินที่จ่ายไปเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา เป็นการขอในเรื่องที่มีการดำเนินการไปแล้ว และการประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษาก็โดยเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบกำหนดวันออกเสียงและไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติตามวันเวลาที่กำหนด แต่ไม่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอย่างไร เช่น ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบวันออกเสียงประชามติ ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือเสียหายต่อสิทธิอื่นใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ที่ต่อเนื่องจากการกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งอาจส่งผลต่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงรวมทั้งผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขอให้ชดใช้เงินที่จ่ายไปเกี่ยวกับการออกเสียงประชามตินั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีและไม่ได้มีคำขอให้ชดใช้เงินแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นฟ้อง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กรณีนำร่างรัฐธรรมนูญออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยที่ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรายอื่น เพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากมีการดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น และให้ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ คืนเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับไปในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นอีก จึงมิใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา