เครือข่ายประชาสังคม แนะหาจุดยืนการเข้าถึงข้อมูล-มีทางเลือกหากร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ

ข่าวการเมือง Wednesday July 20, 2016 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายประชาสังคม ได้ทำการรวบรวมรายชื่อจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมืองและนักวิชาการ หาจุดร่วมเพื่อเรียกร้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่โปร่งใสและชอบธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลครบถ้วน มีพื้นที่ถกแถลงความเห็นอย่างรอบด้าน และรับรู้ถึงทางเลือก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ 7 สิงหาคมนี้

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสังคมไทยมีทางเลือกอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ทางเครือข่ายที่มีความห่วงใยในสถานการณ์ จึงได้จัดทำคำแถลงฉบับที่ 2 เพื่อเรียกร้องและร่วมกันผลักดันให้เกิดความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ต่อไปก่อนถึงวันลงประชามติ รวมทั้งเสนอหลักการทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกฝ่ายต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ

โดยคำแถลงฉบับที่ 2 ระบุว่า เพื่อให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีความชอบธรรมเป็นไปตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล มีความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันผลักดันให้ข้อเสนอดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นได้จริง

1.ให้ความเคารพในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน เอื้อให้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเพื่อการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์

2.จำเป็นต้องมีการเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 ว่ามีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป

3.ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติผ่านกลไกที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการและกำหนดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยเป็นไปตามกรอบเวลาที่มีการประกาศไว้ใน roadmap สู่การเลือกตั้งและตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

4.หากหลักการตามข้อเรียกร้อง ข้อ 1 - ข้อ 3 ที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นจริง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรยอมรับในผลของการทำประชามติ โดยร่วมกันส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในสังคม

5.รัฐธรรมนูญที่จะได้มานั้นควรมีหลักการสำคัญ อาทิ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของกลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง การกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง รวมทั้ง มีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาสังคมได้มีคำแถลงฉบับที่ 1 ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่7 สิงหาคม 2559 โดยเรียกร้องให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เกิดกระบวนการทำประชามติที่โปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรม โดยประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสร้างสรรค์และส่วนร่วมในการถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้านตามกรอบของกฎหมาย รวมทั้งได้รับรู้ถึงทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ โดยมีผู้สนับสนุนลงนามในคำแถลง 115 คน กับอีก 6 องค์กร จากกลุ่มที่มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองและสังคมที่หลากหลายในสังคมไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ