พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมี ผู้บริหารส่วนราชการ ภาคเอกชนเข้าร่วม ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ตามโอกาสและศักยภาพพื้นที่ที่มีอยู่อย่างสูงสุด เนื่องจากเหตุปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นที่มาของเงื่อนไขข้อจำกัดตลอดจนอุปสรรคการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น วันนี้พวกเราทุกคนต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ชัดเจนว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำเนินการอย่างไร ให้โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เศรษฐกิจในพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ มีความเจริญก้าวหน้าเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างแท้จริง
สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่เพื่อให้เกิดความร่วมมือ มุ่งเน้นเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดี และเพื่ออนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไปผ่านการทำงาน 2 แนวทางคือ จากข้างบนลงข้างล่าง และจากข้างล่างขึ้นข้างบน โดยเฉพาะการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณลงสู่พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยเร็วจากงบประมาณ 2 ส่วน คือ งบประมาณประจำกระทรวง และงบประมาณเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาไปสู่ความเจริญในพื้นที่และขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV
จากนั้น เลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอผลการหารือร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ประกอบด้วย ประธานหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมกันให้แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้ ข้อเสนอเรื่อง โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยสร้างเมืองต้นแบบการพัฒนาที่มีอัตลักษณ์ประจำสอดคล้องกับศักยภาพของความเป็นเมืองในปัจจุบัน เป็นเมืองต้นแบบแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างไปตามศักยภาพแต่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันและส่งเสริมการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Synergy) ได้แก่ เมืองหนองจิก ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างชุมชนที่ประกอบอาชีพสนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก (Connectiing Point) เช่น นำอาชีพในท้องถิ่นมาต่อยอดขยายผล เช่น ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร มีการทำการตลาดแบบ E-Market เชื่อมไปยังเมืองอื่นๆ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวบรวมข้อเสนอ แล้วนำเสนอผ่านสำนักส่งเสริมการลงทุนให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้พิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ครอบคลุมภาพรวมใหญ่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 4.0 พร้อมให้พิจารณาปัจจัยภายนอก และผลกระทบที่จะตามมาจากการดำเนินโครงการให้รอบด้าน ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ แต่ต้องดูงบประมาณและรายได้ของประเทศเป็นหลัก เพราะรัฐบาลต้องการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด สำหรับการลงทุนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ดำเนินโครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินได้โดยเร็วให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2560
สำหรับการดำเนินการนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการทำงานตามแนวคิด “สานพลังประชารัฐ” ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจเอกชน ซึ่งประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะคำนึงถึงประชาชนโดยเฉพาะลูกหลาน ในอนาคตที่จะมีงานมีการทำ สามารถหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างบ้านต่างเมือง
ส่วนข้อเสนอของจังหวัดนราธิวาส เรื่อง การเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้เร่งดำเนินการให้สร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อให้ทันเปิดใช้ในปี 2560
"หวังว่าทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นในทุกมิติและนำภาคใต้ไปสู่ความสันติสุข ความเจริญรุ่งเรืองโดยเร็ว และฝันที่จะเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการแพทย์ ศูนย์กลางยางพารา ศูนย์กลางสินค้าการเกษตร ประมง อุตสาหกรรม ศูนย์กลางการค้าชายแดน ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพทั้งด้านทรัพยากรและความสามารถของผู้คนที่จะร่วมกันผลักดันสานฝันนี้ให้สำเร็จได้จริง ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถ"
ขณะที่ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมหน่วยความมั่นคง โดยรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นประธานสักขีพยานในการมอบโฉนดที่ดินบริเวณเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จำนวน 800 ราย จำนวน 1,00 แปลง ให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยมีผู้แทนรับมอบ 1 ราย ซึ่งมี รมว.มหาดไทย เป็นผู้มอบ โดยปีนี้ตั้งเป้าจะมอบให้ 12,000 แปลง และจะให้คำเนินการให้ครบ 24,000 แปลงในปีหน้า โดยโฉนดที่มอบให้อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติบูโด -สุไหงปาดี ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนของชาวบ้าน ซึ่งยังมีปัญหาอยู่อีกกว่า 100,000 ราย