นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การประชุม กกต.เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการพิจารณากรณีที่รัฐบาลได้ติดต่อขอให้ กกต.จัดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยให้ กกต.ดำเนินการร่วมกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ซึ่ง กกต.เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการจัดเวทีดังกล่าว จึงเห็นชอบด้วยหลักการและส่งหนังสือเวียนไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดว่าให้ดำเนินการจัดเวทีชี้แจง
โดย กกต.ได้จัดงบให้จังหวัดละ 150,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่เหลือจากการพิมพ์เอกสารต่าง ๆ ที่แจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ประชุมได้มอบให้ทาง กกต.จังหวัดหารือกับผู้ว่าฯ ในการกำหนดเรื่องการเชิญบุคคล สถานที่ การดูแลความปลอดภัย รวมทั้งวันที่จะจัด ถ้าจังหวัดมีความพร้อมในวันใดก็สามารถกำหนดได้เอง ขึ้นอยู่กับจังหวัดนั้น ๆ แต่จะต้องจัดให้เสร็จภายในวันที่ 3 ส.ค.
สำหรับรูปแบบการจัดเวทีจะเป็นการให้นำเสนอข้อมูลของทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายละ 2 คน ในเบื้องต้นฝ่ายที่เห็นชอบเชื่อว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น่าจะส่งตัวแทนไปได้ทุกเวที ส่วนตัวแทนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หากไม่สะดวก ก็จะให้เชิญครู ก. ไปช่วยอธิบาย สำหรับฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็จะให้ทางจังหวัดเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม หากไม่มีกลุ่มการเมืองก็อาจเชิญอาจารย์ นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอ ไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 400 คน อีกทั้งใช้เวลาจัดแต่ละครั้งประมาณ 3 ชั่วโมง และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนซักถามอีกด้วย
ส่วนการประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) จะมีวาระการพิจารณาเพื่อขอมติที่ประชุมในการทำหนังสือเตือนไปยังหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่มีการเผยแพร่เอกสารที่อาจบิดเบือนเนื้อสาระร่างรัฐธรรมนูญ
นายสมชัย ยังกล่าวถึงการรายงานผลคะแนนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในวันที่ 7 ส.ค. ว่า ยังมีการนับคะแนนและเปิดเผยคะแนนที่หน้าหน่วยออกเสียงเหมือนการเลือกตั้ง กรณีมีข่าวว่าไม่มีการนับคะแนนที่หน้าหน่วยนั้นเป็นข้อมูลที่ผิด ไม่เป็นข้อเท็จจริง
โดยการรายงานผลคะแนนนั้นแบ่งเป็นสองส่วน อันดับแรกรายงานผลคะแนนอย่างเป็นทางการที่จะใช้เวลาประมาณ 3 วันหลังจากวันออกเสียงจึงจะทราบผล เนื่องจากต้องรอเอกสารทุกชิ้นและตรวจสอบความถูกต้อง ส่วนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ กกต.ได้ทำแอพพลิเคชั่นให้กรรมการประจำหน่วยแต่ละหน่วย เพื่อให้ส่งคะแนนจริงผ่านแอพพลิเคชั่นมายังส่วนกลางแบบรายงานสดหรือเรียลไทม์ หน้าจอรายงานผลคะแนนที่สำนักงาน กกต.จะแสดงคะแนนการออกเสียงประชามติ เป็นตัวเลขว่ามีผู้มาใช้สิทธิเท่าไหร่ ผลการออกเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบจะระบุชัดแยกเป็นภาค เป็นจังหวัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ พร้อมกับรายงานความคืบหน้าการนับคะแนนที่จะแสดงผลเป็นเปอร์เซนต์ ดังนั้นสื่อมวลชนก็จะรู้ผลคะแนนพร้อมกับประชาชน
"แต่เดิมทีที่สำนักงาน กกต.จะแสดงผลคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์แบบเรียลไทม์ จะไม่มีการใส่คะแนนดิบที่ละเอียด แต่จะให้คะแนนดิบดังกล่าวกับสื่อมวลชนแต่ละช่องแต่ละสำนัก เพื่อให้สื่อมวลชนนำข้อมูลนี้ไปนำเสนอเอง เพราะ กกต.ให้ความสำคัญกับสื่อ แต่เมื่อสื่อบางสำนักนำข้อมูลในที่ประชุมมาเปิดเผยว่าหาก กกต.รายผลเช่นนี้จะเป็นการไม่โปร่งใส กกต.มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ กกต.จึงตัดสินใจใช้วิธีเดิม คือ จะแสดงผลคะแนนดิบที่หน้าจอของสำนักงาน กกต.โดยให้สื่อมารอฟังผลที่สำนักงาน กกต.กันเอง" นายสมชัย กล่าว