นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารกลาง ชี้แจงถึงกรณีหน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ว่า สามารถทำได้ตามมาตรา 62 วรรค 2 ในกรณีพื้นที่ดังกล่าวมีความยากลำบากในการเดินทาง และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะจัดได้ต้องมีประชาชนร้องขอเท่านั้น และกรรมการประจำเขตต้องอนุญาต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการจูงใจ หรือควบคุมผู้มีสิทธิออกเสียงไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือศาลอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การนับคะแนนนั้น ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไข กำหนดให้ยึดตามคะแนนที่มากกว่า โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิ หรือบัตรเสีย เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนั้นไปแล้ว ดังนั้นหากคะแนนเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีมากกว่าไม่เห็นชอบ กฎหมายก็กำหนดให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ทั้งนี้ กกต.ก็อยากให้คนออกมาใช้สิทธิให้มาก เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการชี้ชะตาอนาคตของชาติ
ส่วนการอำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตานั้น กกต.มีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอักษรเบรลล์จำนวน 500 ฉบับ และมีการแจกจ่ายไปทั้งหมดแล้ว 48 องค์กร อาทิ โรงเรียนการศึกษาคนพิการตาบอดซ้ำซ้อน จ.ลพบุรี, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดทำบัตรภาพที่มีคำถามเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และคำถามพ่วง ไว้สำหรับอำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยออกเสียงพิเศษให้กับผู้สูงอายุ คือ บ้านบางแค 1 และ 2
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำบัตรทาบในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไปแสดงตนขอใช้สิทธิเซ็นชื่อผิดช่อง และมีการทำตัวอย่างลักษณะบัตรดี บัตรเสีย แจกให้กับกรรมการประจำหน่วย และอบรมให้ความรู้กับกรรมการที่จะนับคะแนน เพราะระหว่างการนับคะแนน หากมีการคัดค้าน คณะกรรมการก็จะทำการวินิจฉัยบัตร และคำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด