น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นตัวแทนป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนกล่าวหานายประชา ประสพดี อดีตรมช.มหาดไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้ตำแหน่งรมช.มหาดไทย แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาเลิกจ้างนายธีธัช สุขสะอาด ผอ.องค์การตลาดในขณะนั้น โดยนายประชาได้มีคำสั่งปลดคณะกรรมการองค์การตลาด 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับการปลดนายธีธัช ซึ่งป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายประชาเข้าข่ายการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาด เนื่องจากมีการร้องเรียนว่านายธีธัช มีความผิดตามพ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีสมยอมราคา การปรับปรุงอาคารทรงไทย สำนักงานองค์การตลาด จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้องค์การตลาดเสียประโยชน์ แม้นายประชาจะเป็นรมช.มหาดไทย รับผิดชอบองค์การตลาด แต่ก็มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะเรื่องนโยบายเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายเรื่องการเลื่อนประชุม และการพิจารณาลงโทษ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการองค์การตลาดได้
ทั้งนี้นายประชาได้รับการแต่งตั้งเป็นรมช.มหาดไทย เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 55 แต่ระหว่างนั้นยังไม่มีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และการแบ่งงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งนายประชาได้รับมอบหมายให้ดูแลงานองค์การตลาด เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 55 ดังนั้นการดำเนินการของนายประชาในช่วงก่อนวันที่ 12 พ.ย. และ หลังวันที่ 12 พ.ย.จึงเป็นการแทรกแซงองค์การตลาด เข้าข่ายถูกถอดถอน ตามความผิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และมาตรา 64 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 จึงส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการถอดถอนต่อไป
ด้านนายประชา ได้คัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ผิดไปจากหลักการทางกฎหมายและไม่เป็นความจริง เนื่องด้วยป.ป.ช.มีความเข้าใจคาดเคลื่อนในข้อกฎหมาย ทั้งเรื่องการเลิกจ้างผอ.องค์การตลาดที่จะต้องเสนอต่อผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีพยานและความเห็นทางกฎหมายจากหลายหน่วยงานทั้งในส่วนกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) รวมไปถึงคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันด้วย
ส่วนใช้การอำนาจสั่งการให้ชะลอการประชุมคณะกรรมการ องค์การตลาดนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาก้าวก่ายแทรกแซง แต่ขอรอตนเข้าไปมอบนโยบายก่อน โดยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังองค์การตลาดอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ เพราะเข้าใจโดยสุจริตว่า รมช.มหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า ความเป็นรมช.ของตนสามารถใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว และยังมีผลตามกฎหมายด้วย จึงทำให้มติของที่ประชุมองค์การตลาดที่สั่งให้เลิกจ้าง นายธีธัช ไม่มีผลและไม่ผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยอมรับอำนาจหน้าที่ของตน
ขณะเดียวกับ รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และตนก็ได้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตั้งนานแล้วด้วย จึงขอให้ สนช.พิจารณาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นธรรม
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 7 คน ก่อนได้กำหนดนัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการซักถามถามคู่กรณีในวันที่ 11 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น.