"วิษณุ" เผยนายกฯ นัดถกร่วมครม.-คสช. 9 ส.ค.หลังลงประชามติ เตรียมทางออกหากรธน.ไม่ผ่านประชามติ

ข่าวการเมือง Thursday August 4, 2016 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นัดหารือถึงผลประชามติที่ออกมา เพื่อวางแนวทางดำเนินการไว้ก่อนประชุมร่วมระหว่าง คณะรัฐมนตรี (ครม.)และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในที่ 9 ส.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการระดมความคิดและหาแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน หรือกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน หรือกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

โดยได้เตรียมการหลังผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ซึ่งไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน รัฐบาลยังคงเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ และหากไม่ผ่านก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มกระบวนกระบวนการร่างใหม่ทั้งหมด แต่หยิบยกมาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาได้

"ไม่ว่าจะไม่ผ่าน หรือผ่าน ก็ต้องนำไปสู่โรดแมปโดยเร็ว และถ้าอยากให้เร็ว ก็ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์"นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้หากกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงท้ายผ่าน ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมตีความในเนื้อหา ส่วนกรณีเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน ก็ต้องตัดคำถามพ่วงทิ้ง และวางแนวทางต่อไป ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้

อย่างไรก็ดี เห็นว่าไม่ควรไปกังวลกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมา แม้หลายฝ่ายจะออกมาแสดงความคิดไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญสามารถเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้มากว่า 200 ปี โดยไม่เคยมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะสามารถที่จะเขียนเพิ่มหรือตีความกฎหมายได้ เปรียบเหมือนรัฐธรรมนูญมีชีวิต และรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้ง 19 ฉบับ มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ ดังนั้นอย่าไปโทษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเขาจึงต้องมาช่วย

"ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดก็เปรียบเสมือนสินค้า เมื่อมาดูอาจจะมีส่วนที่ดีและไม่ดี ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ให้รับไปก่อน มันไม่ใช่ มันเป็นการพูดแบบอุปมาอุปไมย" นายวิษณุ กล่าว

ส่วนกรณีที่ 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และเมียนมา ได้แจ้งเตือนพลเมืองของตนเองว่าอาจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในวันออกเสียงประชามติในไทยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าไปกังวลกับเรื่องนี้ เพราะถือเป็นธรรมดาที่แต่ละประเทศจะมีการแจ้งเตือน เช่นเดียวกับไทยก็เคยเตือนไปยังประเทศที่เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน แต่ฝ่ายความมั่นคงมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าหลังการทำประชามติจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ เพียงแต่ยอมรับว่าจำเป็นต้องมีการปรับ ครม.หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายให้ต้องเปลี่ยนจากกระทรวง ICT มาเป็นกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจะต้องมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมากำกับดูแลตามกระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ