(เพิ่มเติม) ศาลฯ เริ่มกระบวนการไต่สวนพยานจำเลยนัดแรกคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์"ปัดตอบตัวเลขขาดทุน ยันทำตามนโยบาย

ข่าวการเมือง Friday August 5, 2016 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้แถลงเปิดคดีด้วยวาจา ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการไต่สวนพยานจำเลยครั้งแรกในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชม. จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนพยานและตอบคำถาม ซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งอัยการโจทก์ได้เตรียมคำถามไว้กว่า 165 คำถาม และใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงในการไต่สวน

สำหรับการไต่สวนจะเป็นประเด็นในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการ การกำหนดเวลาชำระหนี้ และการบริหารหนี้สาธารณะ และเงินที่ใช้ในโครงการรวม 5 ฤดูกาลผลิต มูลค่า 8.7 แสนล้านบาท

ทางอัยการได้ตั้งคำถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า จากการรายงานตัวเลขปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.57 พบว่ามีตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 536,000 ล้านบาท ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธ โดยไม่ขอรับรองว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายที่รัฐบาลพยายามจะให้เกิดการขาดทุนน้อยที่สุดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับราคาตามตลาดโลก และขึ้นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ในสมัยนั้น

ทั้งนี้ อัยการได้ตั้งคำถามต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ใช่หรือไม่ โดยได้ตั้งข้อสังเกตจากการที่รัฐบาลเคยปรับราคารับซื้อข้าวจาก 15,000 บาท/ตัน ลดลงมาเหลือ 12,000 บาท/ตัน และได้ปรับกลับไปเป็น 15,000 บาท/ตันอีกครั้ง ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงว่า การปรับราคาข้าวลงมาเหลือ 12,000 บาท/ตัน ทำให้ถูกร้องเรียนจากสมาคมชาวนาไทย รวมทั้งอดีตผู้นำฝ่ายค้านที่คัดค้านว่าควรต้องคงราคาเดิมไว้ จึงทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติปรับราคารับซื้อข้าวขึ้นไปเป็น 15,000 บาท/ตันตามเดิม เพียงแต่ได้จำกัดปริมาณการรับซื้อไว้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถือเป็นการขัดต่อนโยบาย และเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี

อัยการได้ตั้งคำถามถึงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่พบว่าไม่ได้มีการดำเนินการจริง โดยตั้งคำถามว่ามีการส่งมอบข้าวไปจีนจริงหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า เรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจีได้มีมติ ครม.ออกมารับรองขั้นตอนการดำเนินการ โดยฝ่ายปฏิบัติคือ อนุกรรมการระบายข้าว และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งครม.ไม่ได้ก้าวล่วงในส่วนนี้ จึงต้องการให้ไปถามฝ่ายผู้ปฏิบัติจะดีกว่า แต่ยืนยันว่าเมื่อมีข้อท้วงติง รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องนี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงถึงตัวเลข 8.7 แสนล้านบาทว่า เป็นเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จ่ายให้ชาวนา และเป็นคนละส่วนกับวงเงินหมุนเวียนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ให้ในแต่ละฤดูกาลผลิตจะต้องไม่เกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการมองคนละประเด็นกับทางอัยการ เพราะไม่อยากให้มองเป็นเพียงการซื้อมาขายไป หรือคิดเฉพาะเรื่องของกำไรขาดทุน แต่โครงการนี้เป็นโครงการสาธารณะที่มองถึงผลประโยชน์ต่อชาวนาที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยืนยันว่า การดำเนินโครงการอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังและข้อกฎหมาย ยึดหลักการของพ.ร.บ.หนี้สาธารณะและพ.ร.บ.งบประมาณ

ขณะเดียวกันยังมีมาตราการป้องกันและตรวจสอบการทุจริต ทั้งการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องนี้ และมองว่าประเด็นเรื่องการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดไว้ จึงอยากให้มีการสอบจากบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือกรณีข้าวหายจากโกดังของรัฐบาล ก็ได้รับคำยืนยันจาก อ.ต.ก. และอคส. ที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าข้าวไม่ได้หายจากโกดังแต่อย่างใด

ด้านองค์คณะศาลฏีกาได้ซักถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยืนยันว่าไม่สามารถใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีระงับโครงการใดๆได้ แต่ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 ระบุว่า สามารถยับยั้งการดำเนินนโยบายใดๆได้ โดยได้ยกคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่าเคยใช้อำนาจตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 สั่งยุติโครงการการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี หรือโครงการระบายข้าว จึงได้ซักถามว่า ในการคิดนโยบายของพรรคได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการจะหยุดหรือระงับโครงการไว้หรือไม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงว่า การยับยั้งโครงการสามารถทำได้หากขัดต่อมติ ครม. แต่การดำเนินนโยบายในโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามมติ ครม. และเมื่อเกิดปัญหาแต่เป็นปัญหาในภาคปฏิบัติ ซึ่งสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดเวลา และมองว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่คุ้มทุน และไม่กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอยู่ในกรอบเงินทุนหมุนเวียน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ และพรรคเพื่อไทยมองโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว 4 ปีซึ่งศึกษามาแล้วว่าทำให้ประชาชนอยู่ได้ ซึ่งไม่ได้มองเพียงเรื่องผลกำไรขาดทุนแต่มองถึงความคุ้มของเศรษฐกิจโดยรวม

ภายหลังจากการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลฏีกาได้นัดในการไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ในเวลา 9.30 น. ซึ่งทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า พยานฝ่ายจำเลยที่จะมาศาลคือ นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ