คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมผู้กระทำผิดกฏหมายลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจนถึงเวลาประมาณ 13.00 น.พบใน 14 จังหวัด 21 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิด ส่วนกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จงใจฉีกบัตรลงประชามติ ถือว่ามีความผิดชัดเจน
นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก กกต.ประจำจังหวัด พบผู้กระทำผิดกฏหมายด้วยการฉีกบัตรประชามติใน 14 จังหวัด 21 หน่วย ประกอบด้วย นครปฐม, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร, พะเยา, ปทุมธานี, ชลบุรี, สุรินทร์, นครสรรค์, กาญจนบุรี, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, เชียงราย, ยโสธร และกรุงเทพฯ ซึ่งสาเหตุการฉีกบัตรนั้น ส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิดว่าจะต้องฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน โดยขณะนี้ กกต.ได้ประสานไปยังกรรมการประจำหน่วยให้มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในเรื่องนี้แล้ว
ทั้งนี้ ผู้ที่กระทำผิดไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่า สาเหตุที่มีการฉีกบัตรไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการประชาสัมพันธ์ เพราะที่ผ่านมา กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ และการเลือกตั้งในทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยทำบัตรเลือกตั้งประเภทที่ต้องฉีกบัตรก่อนหย่อนลงหีบแต่อย่างใด
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ที่เขตบางนา จ.กรุงเทพฯ ว่า ถือว่ามีความผิดชัดเจน เพราะมีเจตนาฉีกบัตรเพื่อแสดงออกทางการเมือง ซึ่งกรณีนี้หากมีความเข้าใจว่าสามารถต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง หรืออาจเลียนแบบกรณีของอาจารย์มหาลัยวิทยาลัยคนหนึ่งที่เคยฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะสุดท้ายทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฏีกาได้วินิจฉัยว่ามีความผิดและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
อนึ่ง ช่วงสายที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนา ควบคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายหนึ่งไปสอบสวนที่ สน.บางนา ภายหลังจากฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่บริเวณหน่วยออกเสียงภายในสำนักงานเขตบางนา โดยสวมเสื้อยืดสีดำสกรีนคำว่า "NO COUP" เข้าไปภายในหน่วยออกเสียงแล้วตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"ก่อนฉีกบัตรลงคะแนน
นักศึกษารายดังกล่าวได้เขียนแถลงการณ์สรุปได้ว่า การกระทำในครั้งนี้ทำไปโดยมีสติครบสมบูรณ์ ไม่ได้เสพสิ่งมึนเมา และทำไปตามจิตสำนึกของพลเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยจะไม่ขอหลบหนีและขอไปสู้คดีในชั้นศาล