คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังผลการลงประชามติออกมาแล้วทุกฝ่ายต้องน้อมรับการตัดสินใจเพื่อร่วมมือเดินหน้าประเทศ สำหรับสาเหตุที่ผลออกมาอย่างเช่นนี้วิเคราะห์ได้หลายแนวทาง โดยอย่างแรกเห็นว่าภาพพจน์ของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการให้ข้อมูลกับสังคมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ปราบโกง ซึ่งจะมีกติกาที่ควบคุมกำกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในอนาคตได้ อาจจะโดนใจประชาชน แม้ว่าช่วงหลังจะมีหัวหน้าพรรคการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองหลายฝ่ายออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม
นอกจากนี้ยังเห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้เกิดการเลือกตั้งและคิดว่าหากรับร่างรัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมพ เพราะหากไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญอาจจะมีความวุ่นวายหรือไม่ หรืออาจจะใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนดไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในกลางปี 60 หากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลการลงประชามติที่ออกมาสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเอง ไม่ได้เกิดจากการแสดงท่าทีของนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องของความไม่ไว้ใจนักการเมืองมากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้ประทับใจการทำงานของรัฐบาลในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากนักก็ตาม นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนก็อยากจะให้เกิดการเลือกตั้งตามโรดแมพในปี 60 ด้วย
"ไว้ใจ (คสช.) เกินครึ่ง บวกกับไม่ไว้ใจนักการเมือง ออกมาเป็นคะแนนเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ก็จะมีพวกกลุ่มที่รับเพราะอยากจะเลือกตั้งก็มีเป็นส่วนประกอบ"นายนิพิฏฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 94% (วันที่ 7 ส.ค.) พบว่าประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 61.40%