ประธานสนช. เผยเลือกตั้งยึดโรดแมพเดิม แจงขั้นตอนทำกม.ลูกหลังกกต.ประกาศผลทางการ

ข่าวการเมือง Monday August 8, 2016 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า ต้องรอให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อนำคำถามพ่วงบรรจุเข้าในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรธ.มีเวลาในการพิจารณาภายใน 30 วัน จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีความถูกต้องเป็นไปตามบริบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายในระยะเวลา 30 วันเช่นเดียวกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไขก็จะส่งกลับมาให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าต้องแก้ไขก็ต้องส่งกลับให้กรธ.แก้ไขภายในเวลา 15 วันก่อนที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

สำหรับการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกรธ.ในการจัดทำเช่นกัน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งตามหลักเกณฑ์ต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน โดยกรธ.สามารถเตรียมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปพลางๆก่อน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็สามารถย่นระยะเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้กรธ.ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 8-10 ฉบับ ซึ่งการทำให้เสร็จทั้งหมด ระยะเวลาจะคาบเกี่ยวไปถึงวันประกาศให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ในช่วงประกาศเลือกตั้งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้นกรธ.จะต้องเร่งทำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้เพื่อให้สนช.ได้พิจารณาก่อน โดยสนช.มีเวลาในการพิจารณารวม 60 วันเท่านั้น

ส่วนกำหนดการเลือกตั้ง จะมีขึ้นปลายปี 60 หรือต้นปี 61 นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ให้เอาโรดแมพเดิมบวกระยะเวลาในขั้นตอนการบรรจุคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 60-75 วันด้วย ส่วนภาพของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องรอให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการสรรหา ส.ว.ก่อน โดยกำหนดไว้กว้างๆ แต่ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไว้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรธ.มีจำนวน 21 คน แต่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีภารกิจมากมาย ดังนั้นก็อาจจะมีการเพิ่มจำนวน กรธ.อีก 10 คน โดย คสช.จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรธ.เป็นหลักว่าต้องการเพิ่มหรือไม่ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามานั้นไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่เชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน เช่น การเลือกตั้ง พรรคการเมือง เป็นต้น

ส่วนการที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นายพรเพชร มองว่า เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน โดยการทำประชามติครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์ 54-55% ส่วนปี 50 มีผู้มาใช้สิทธิ 57%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ