นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวสรุปภาพรวมผลการออกเสียงประชามติและการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกระทำผิดพ.ร.บ.ประชามติ รวม 35 จังหวัด รวม 59 เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีเจตนา
"มีเพียงรายเดียวที่มีเจตนา ส่วนอีก 58 เหตุการณ์ ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกกต.จะได้ประมวลข้อมูลไว้ปรับปรุงแก้ไข ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีการฉีกบัตรลงคะแนนออกเป็นสองส่วนเพราะคิดว่าต้องแยกบัตรซึ่งหากพนักงานสอบสวนสอบถามมา กกต.ก็จะอธิบายให้เข้าใจ" นายธนิศร์ กล่าว
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า กรณีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กรณีแรกเป็นการกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่มีเจตนา ซึ่ง กกต.อยากจะส่งสัญญาณไปถึงพนักงานสอบสวนว่า กกต.ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีผู้กระทำผิดในส่วนนี้ แต่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการ
"เรื่องนี้สุดแล้วแต่พนักงานสอบสวน แต่อยากประกาศต่อสาธารณชนว่ากกต.ไม่ประสงค์ให้เป็นคดีความ เพราะหากเกิดความเดือดร้อนจะส่งผลให้วันข้างหน้าไม่อยากมาเลือกตั้ง" นายสมชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีเจตนากระทำผิดก็คงต้องดำเนินคดีตามกฎหมายแต่ กกต.จะไม่เข้าไปแทรกแซงเช่นกัน สำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หากกรณีใดที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่มีเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ส่งสัญญาณให้ยุติการดำเนินคดีเช่นกัน
สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง 4 จังหวัดได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น กกต.ได้ประสานให้ กกต.จังหวัดเข้าไปดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะเยียวยาอย่างเหมาะสม
นายสมชัย กล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการร้องคัดค้าน กกต.ก็จะพิจารณาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ และหากมีหน่วยเลือกตั้งที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ไม่มากจนส่งผลกระทบต่อผลการทำประชมติ ก็อาจไม่ให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้