(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.มองผลประชามติช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น หนุนประเทศเดินหน้าตามโรดแมพ

ข่าวการเมือง Monday August 8, 2016 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีผลการลงประชามติเพื่อรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบรับร่างฯ ว่า ผลที่ออกมาแปลว่าจากนี้ต่อไปประเทศไทยก็ยังคงเดินหน้าต่อในการบริหารประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลคงจะทำตามโรดแมพที่วางไว้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตย

"เรื่องการออกเสียงประชามติไม่มีผลอะไรต่อประเทศมากหรอก เพียงแต่บอกว่าเดินไปตามโรดแมพหรือเปล่า กติกาของสังคม ถ้าเรายอมรับกติกาตามนี้ก็แสดงว่าประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ" นายเจน กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

นายเจน กล่าวว่า ถามว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือไม่ มันไม่เกี่ยวหรอก เพียงแต่บอกว่าโรดแมพยังอยู่ แล้วก็สิ่งที่สำคัญคือโรดแมพยังอยู่แล้วก็ไม่มีการประท้วง ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะภาคธุรกิจก็มองอยู่ ถ้าเดินหน้าได้แบบนี้ก็มีความชัดเจนในระดับต่อภาพรวมของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นนั้น มองว่าคงขึ้นอยู่กับแผนงานของผู้ลงทุนรายนั้นเองด้วยว่ามีแผนการลงทุนอยู่แล้วหรือไม่ เพราะปัจจัยเรื่องรัฐธรรมนูญผ่านประชามติคงไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเพิ่มการลงทุนได้ เพียงแต่อาจมีผลให้นักลงทุนที่มีการวางแผนไว้อยู่แล้ว สามารถในไปประกอบการตัดสินใจได้ง่ายและเร็วขึ้น

"เรื่องรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้คนที่ไม่มีแผน จะมีแผนขึ้นมาในการขยายการลงทุนเพิ่มเติม เพียงแต่ทำให้คนที่มีแผนไว้อยู่แล้ว สามารถตัดสินใจได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

เรื่องการแก้ไขบทเฉพาะกาลก็แก้กันไป ผลออกมาเสียงส่วนใหญ่ว่ารับแบบนี้ กติกาก็ชัดเจนเดินหน้ากันไป แต่ถึงแม้ผลการออกเสียงจะออกมาว่าไม่รับ ทางรัฐบาลหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงรีบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ส่วนจะใช้วิธีไหนก็คงมีบทสรุปออกมา แต่ในเมื่อวันนี้เสียงส่วนใหญ่ออกมาว่ารับเราก็ไม่ต้องไปพูดถึงประเด็นนั้น

"เห็นได้ชัดว่าเรื่องของการปฏิรูปคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ส่วนเรื่องจีดีพีถ้าเดินไปตามโรดแมพ จีดีพีไม่มีผลอะไรหรอก...เราตีความได้ว่าประชาชนไทยต้องการให้มีการปฏิรูป และต้องการให้มีช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรทำให้ประชาชนผิดหวัง การปฏิรูปต้องทำเร่งด่วน เพื่อที่จะทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านใน 5 ปีนี้เกิดสิ่งดีๆ มากที่สุดให้แก่ประเทศ" นายเจน กล่าว พร้อมระบุว่า สิ่งที่ทุกคนคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และต้องการเห็นการเกิดขึ้น คือ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก็มีการระบุไว้ชัดเจน เช่น การเพิ่มโทษ การจำกัดอำนาจควบคู่กับหน้าที่ และการจำกัดอำนาจในเรื่องการปรับเปลี่ยนงบประมาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่คิดว่าประชาชนขานรับ ส่วนกรณีที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ต่างออกมาหนุนผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ และสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง นายเจน กล่าวว่า งวดนี้ออกมาน่าจะชี้ชัดแล้วว่าประชาชนไม่ได้เชื่อนักการเมือง

สำหรับผลการลงประชามติที่พบว่ามีบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายเจน กล่าวว่า จริงๆ แล้วผลที่ออกมาถือว่าผิดจากความคาดหมายที่หลายฝ่ายต่างคาดว่าภาคเหนือและภาคอีสานจะออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่านี้ ซึ่งจุดนี้เองทำให้มองเห็นว่า ประชาชนน่าจะมีการตัดสินใจโดยยึดจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมากกว่าการเป็นพื้นที่ฐานเสียงเดิมของพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลได้ทราบความชัดเจนจากผลการลงประชามติที่ออกมาว่าพื้นที่ไหนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะได้ลงไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

"เราได้เห็นพื้นที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องลงไปทำความเข้าใจ ผมว่าดี โจทย์ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปชี้แจงทั่วประเทศ เห็นเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว เป็นโอกาสที่จะเข้าไปชี้แจงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง" นายเจน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ