ประธานกรธ. เตรียมประชุมร่วมคสช.กำหนดแนวทางตามโรดแมพ ยันส.ว.ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ

ข่าวการเมือง Monday August 8, 2016 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า จากนี้จะต้องร่วมกันทำหน้าที่ต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยในวันพรุ่งนี้ (9 ส.ค. ) จะไปเข้าร่วมประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป

"เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลประชามติอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ส.ค. เดาว่านายกฯ คงร้อนใจสำหรับการเดินหน้าตามโรดแมพ ที่เวลาจะบีบมากขึ้น มีเวลา 240 วัน ในการจัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ซึ่งก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องแก้บทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงภายใน 30 วัน" นายมีชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า การใส่คำถามพ่วงไปในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดไปตามตัวอักษรที่กำหนดไว้ในคำถาม ซึ่งหาก กรธ.มีข้อสงสัยในถ้อยคำถามก็จะต้องไปถาม สนช. จากนั้นจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วันว่าสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาคำถามพ่วงจะใส่ได้เพียงกำหนดให้ส.ว.มีส่วนร่วมกับส.ส.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยใช้เสียงข้างมาก

"แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เมื่อให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วยังทำไม่ได้อีก จะทำอย่างไร ซึ่งก็ยังไม่คิดจริงจัง เดี๋ยวจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ตามเราจะร่างเนื้อหาส่วนนี้ไป แล้วดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร ส่วนข้อห่วงกังวลว่าจะมีการแก้ไขให้ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตามตัวอักษรของคำถามพ่วง ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ" ประธาน กรธ.กล่าว

สำหรับประเด็นว่า ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะมีสิทธิร่วมกับ ส.ส.เพื่อโหวตนายกฯ ได้กี่ครั้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า จากข้อความที่ระบุในคำถามพ่วงกำหนดไว้แต่เพียงแค่ 5 ปี ซึ่งในความหมายคือจะเลือกกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้

"ที่ห่วงกันว่านายกฯ จะมาจากไหนก็ไม่รู้ ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะส.ว.แม้จะมีสิทธิเลือกนายกฯ แต่ก็ไม่ได้ลงไปทำหน้าที่แบบ ส.ส.ที่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นหากนายกฯ ไม่มีเสียงสนับสนุนจากส.ส.มากพอ เชื่อว่าอยู่ไม่นานก็ต้องไป" นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปจะเกิดขึ้นในปี 2560 ไม่ใช่ 2561 นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ถูกต้องแล้ว เวลาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็กำหนดไว้ให้จัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ภายใน 8 เดือน แล้วจะมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ก็ต่อเมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งตนคิดว่าจะทำกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับนี้ก่อน

โดยขณะนี้ก็ได้ติดต่อเป็นการภายในไปยัง กกต.ในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก 4 ฉบับนี้แล้วว่าให้เตรียมจัดทำร่างเหล่านี้เสนอมายังกรธ. ส่วนข้อห่วงกังวลว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง จะมีการเซตซีโร่พรรคการเมืองหรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูตัวข้อบังคับพรรคการเมืองว่ามีข้อไหนที่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่ขัด ก็ไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่ถ้ามีขัด ก็ต้องเริ่มใหม่ ซึ่ง กรธ.ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้

"พยายามอยากให้พรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ เราต้องพึ่งพาเขาด้วย เพื่อไม่ให้กติกาที่วางไว้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ส่วนการขอความเห็นจะทำในนามตัวบุคคลไม่ใช่ในนามพรรค" ประธานกรธ.กล่าว

ในวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายบริหาร นำกระเช้าดอกไม้มาแสดงความยินดีกับนายมีชัย ที่รัฐสภา หลังการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญผ่านพ้นไปด้วยดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ