ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ แนะเกาะติดหน้าตารัฐบาลใหม่หลังผลประชามติสะท้อนหลากหลายประเด็นการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday August 10, 2016 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนั้น ส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทยในระดับหนึ่งว่าประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 ตามทิศทางประชาธิปไตยได้ และช่วยขจัดข้อกังขาของต่างชาติที่ว่าไทยจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่

อย่างไรก็ดี ความมั่นใจดังกล่าวของประชาชนเป็นเพียงความมั่นใจในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ หน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างคาดหวัง คือ การมีรัฐบาลที่สามารถวางรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนไว้ให้แก่ประเทศในอนาคต

"การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น แต่เป็นการมั่นใจเพียงระดับหนึ่ง เพราะสิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ตอนนี้เราผ่านช็อทแรกไปแล้ว คือ ไม่มีเหตุที่ทำให้เห็นว่าเราจะไม่มีการเลือกตั้ง ต่างชาติจะเอามาเป็นข้อแย้งไม่ได้ว่าการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ หรือจะมีความวุ่นวายทางการเมืองจากการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้คงจะหมดไป เพราะขณะนี้ทุกคนต่างเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง" นายธนวรรน์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า ผลการลงประชามติในแต่ละพื้นที่ ยังมีจุดที่น่าติดตามและสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง เช่น ภาคเหนือที่หลายจังหวัดส่วนใหญ่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการตีความว่าการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของในแต่ละพื้นที่นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหตุผลมาจากอำนาจฐานเสียงเดิมของพรรคการเมืองที่ยังมีอยู่ในพื้นที่นั้นก็เป็นได้ หรืออีกส่วนหนึ่งอาจจะตีความว่าเป็นเพราะความรู้สึกของประชาชนจริงๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นไปได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากจะพิจาณาย่อยลงไปอีกในส่วนของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าประชาชนปฏิเสธรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่อาจมีเพียงบางมาตราหรือบางประเด็นที่ประชาชนไม่เห็นด้วย หรือมองว่ายังไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐตามสิทธิที่พึงจะได้รับอย่างเพียงพอ

"การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่อาจจะไม่รับในบางประเด็น และเป็นการแสดงออกว่า ในพื้นที่นี้ยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลเท่าที่ควร ดังเช่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือ เขาอาจไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่มาดูแลเขาได้เพียงพอ"นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของภาคใดที่ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้าไปดูข้อมูลว่าเหตุที่ประชาชนไม่รับเป็นเพราะความไม่เข้าใจ เข้าใจผิด หรือปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำเป็นต้องหาข้อมูลที่แท้จริง และทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งเพื่อจะได้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริงจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

"ที่ไม่รับ เพราะอาจจะต้องการให้มีบางอย่างเติมเต็มเข้าไปในพื้นที่ หรือการให้ดูแลภาพรวมในบางเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐสามารถลงไปหาข้อมูลได้ บางจุดอาจเป็นเรื่องของความนิยมทางการเมืองจริงๆ ก็ได้ ว่าที่ไม่รับเพราะไม่ชอบ หรือที่ไม่รับเพราะไม่อยากได้รัฐธรรมนูญแบบนี้ เพราะมองว่าการรัฐธรรมนูญควรเป็นอีกแบบ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสามารถเกิดขึ้นได้จริงในปี 2560 ก็จะทำให้ได้เริ่มเห็นกิจกรรมทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเม็ดเงินจากกิจกรรมทางการเมืองที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาท และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปีหน้าได้ 0.3-0.5% จากที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5-4%

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาวที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ 1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศ 2.การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ , การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การวางแผนความมั่นคงด้านพลังงาน และ 4.การปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมดิจิตอลโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ