นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุให้ทำกฎหมายลูกที่สำคัญต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จภายใน 2-4 เดือนนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะการทำกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาพิจารณา แม้จะมีกฎหมายลูกฉบับเดิมใช้อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทเปลี่ยนแปลงต้องแก้ไขให้สอดคล้อง และต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นร่วมด้วย
"ลองคิดดูแม้แต่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณที่ต้องเข้าสภาทุกปียังได้เวลาพิจารณาถึง 90 วัน ดังนั้นการทำกฎหมายลูกต้องคิดให้รอบคอบ และต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กรธ.จะส่งจดหมายไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เตรียมเขียนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ปรับใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นอาจให้เวลาดำเนินการ 1-2 เดือน และให้ส่งกลับมายัง กรธ. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยอมรับว่าเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตนเองคาดหวังว่าจะไม่มีผู้ใดทักท้วงว่าเป็นการทำร่างกฎหมายไว้ล่วงหน้า แต่หากมีคนทักท้วงตนเองจะสั่งให้หยุดดำเนินการทันทีแล้วกลับไปใช้เวลาทำร่างกฎหมายลูกให้เต็มจำนวน 240 วันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด
ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงประเด็นการขจัดส่วนได้ส่วนเสียต่อการพิจารณากฎหมายลูกฉบับใหม่ว่า ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือรู้ตัวว่าจะได้รับเลือกเป็น ส.ว.ควรลาออกจากตำแหน่งภายใน 3 เดือนหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพิจารณาร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะที่กรรมการในองค์กรอิสระที่จัดทำร่างกฎหมายลูกนั้น ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพื่อออกกฎหมายลูก แต่การจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ให้เขียนไว้ในร่างกฎหมายลูก ดังนั้นกรณีที่กรรมการในองค์กรอิสระจะพ้นตำแหน่งไปหรือไม่ ตนเองมองว่าจะใช้คุณสมบัติของกรรมการเป็นประเด็นหลักในการพิจารณา ส่วนคณะกรรมการองค์กรอิสระชุดใดจะพ้นตำแหน่งเป็นรายบุคคลหรือเป็นคณะกรรมการทั้งชุดนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ประธาน กรธ. ยอมรับว่า มีความหนักใจต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ต้องบัญญัติเนื้อหาใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนด โดยเฉพาะกลไกที่ต้องออกแบบเพื่อให้การแบ่งกลุ่มของ ส.ว.ออกเป็น 20 กลุ่มเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือก รวมถึงการดำเนินการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด มาถึงระดับประเทศ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองนั้นสามารถนำกฎหมายลูกที่มีอยู่มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ คือ การวางแนวทางให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง แต่ต้องไม่สร้างความลำบากให้พรรคการเมืองในกรณีที่ต้องเรียกสมาชิกทั้งหมดมาประชุม เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่จะให้พรรคการเมืองจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเซ็ทซีโร่นั้น กรธ.ไม่มีแนวคิด แต่หากถามว่าจะมีเงื่อนไขเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมือง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมีบทบัญญัติที่ปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้อยู่