ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เหตุผลของคนไทยต่อการตัดสินใจการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559" เกี่ยวกับเหตุผลต่อการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และเหตุผลต่อการตัดสินใจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากผลการสำรวจเหตุผลของประชาชนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.95 ระบุว่า คิดว่าน่าจะดีกว่าฉบับเดิมเพราะ ผ่านการกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิมาดีแล้ว มีสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง รองลงมาร้อยละ 21.12 ระบุว่า ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยากให้ประเทศเดินหน้า และเศรษฐกิจดีขึ้น ร้อยละ 8.51 ระบุว่า ชื่นชอบระบบการทำงานของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช. และระบบการทำงานของทหารที่จริงจัง เข้มงวด ร้อยละ 8.02 ระบุว่า ต้องการให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 7.83 ระบุว่า มีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชันของกลุ่มนักการเมือง การคัดกรองนักการเมือง และบทลงโทษของนักการเมืองและข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ ร้อยละ 4.74 ระบุว่า ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ปากท้องของประชาชน เบี้ยผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 4.69 ระบุว่า ไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ หากไม่รับร่าง อาจเกิดความขัดแย้งความวุ่นวายตามมา ประเทศก็จะย่ำอยู่กับที่ ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร้อยละ 1.84 ระบุว่า รับร่างฯ เพราะทำตามสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ร้อยละ 1.55 ระบุว่า รับร่างฯ ตามกระแสสังคม คำบอกเล่าของคนในครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง ร้อยละ 1.45 ระบุว่า เบื่อหน่ายระบบการเมืองแบบเดิม ๆ และ ร้อยละ 1.30 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน, ควรให้โอกาสและลองใช้ดู, ควรเคารพการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศขณะที่บางส่วนระบุว่า จะรับร่างหรือไม่รับร่างก็ไม่แตกต่างกัน
สำหรับเหตุผลของประชาชนที่ตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.79 ระบุว่า บางมาตรา บางข้อ ไม่สมเหตุสมผล ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ฉบับเดิมน่าจะดีกว่า เช่น มีการตัดสิทธิประโยชน์บางประการออกไป รองลงมาร้อยละ 18.50 ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ขาดความเป็นประชาธิปไตย ความคิดเห็นมาจากคนกลุ่ม ๆ หนึ่งเท่านั้น ไม่มีความหลากหลาย ขาดความโปร่งใส คล้ายกับเป็นการมัดมือชกให้รับร่างฯ ให้ผ่านพ้นไป ร้อยละ 10.24 ระบุว่า ยังไม่ทราบและเข้าใจในรายละเอียดและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกรงว่าหากรับแล้วจะมีผลเสียมากกว่า ร้อยละ 8.66 ระบุว่า ไม่ชอบระบบการทำงานของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช. และระบบการทำงานของทหาร ที่เผด็จการ ขาดอิสระและเสรีภาพเป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองมากจนเกินไป ต้องการให้รัฐบาลใหม่ ๆ เข้ามา ร้อยละ 2.76 ระบุว่า ที่ไปที่มาของนายกรัฐมนตรี ส.ส., ส.ว. โดยเฉพาะ ประเด็น ส.ว. สรรหา ที่มีจำนวนมากเกินไป ร้อยละ 1.77 ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลชุด คสช. อยู่บริหารประเทศต่อไป หากว่ารับร่างฯ ฉบับนี้แล้ว จะไม่ได้รัฐบาลชุดเดิม จึงไม่เห็นด้วย ร้อยละ 1.57 ระบุว่า ไม่รับร่างฯ ตามกระแสสังคม คำบอกเล่าของคนในครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง และ ร้อยละ 5.71 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน, ควรแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนก่อน, ต้องใช้เวลาในการปฏิรูปและรอดูไปก่อน, ไม่ชอบเรื่องการเมือง, ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะรับร่างหรือไม่รับร่างก็ไม่แตกต่างกัน
ด้านเหตุผลของประชาชนที่ตัดสินใจลงมติเห็นชอบ ในประเด็นคำถามพ่วงเกี่ยวกับข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.54 ระบุว่า น่าจะดี เป็นสิ่งใหม่ที่น่าจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบัน รองลงมาร้อยละ 26.33 ระบุว่า ส.ว. และ ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว และยังประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ ทราบถึงปัญหาของประชาชน เชื่อมั่นว่า น่าจะตัดสินใจ และพิจารณาได้ดีกว่าประชาชน ร้อยละ 11.01 ระบุว่า ต้องการเห็นบ้านเมือง ประเทศชาติพัฒนาเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาทำให้สะดุดและเกิดการปฏิรูปไปในทิศทางที่เหมาะสม ร้อยละ 10.88 ระบุว่า เป็นการเปิดโอกาสให้มีนายก/ตัวเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นคนดีมีความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ เบื่อนักการเมืองเดิม ๆ และระบบเดิม ๆ ร้อยละ 8.93 ระบุว่า เป็นการช่วยกันหลาย ๆ ฝ่ายและยังเป็นการคานอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคกัน มีความเป็นธรรมและเป็นกลางมากขึ้น ร้อยละ 5.91 ระบุว่า ชอบระบบการทำงานของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช. และระบบการทำงานของทหารที่จริงจัง และเข้มงวด ร้อยละ 3.36 ระบุว่า ต้องการเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมือง ร้อยละ 2.82 ระบุว่า เห็นชอบตามกระแสสังคม คำบอกเล่าของคนในครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง ร้อยละ 1.41 ระบุว่า เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแค่ 5 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน ร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ต้องการให้เกิดความยืดเยื้อ อยากให้เสร็จผ่านพ้นไป ใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ ก็เหมือนกัน ณ เวลานี้ควรประคับประคองไปก่อน และ ร้อยละ 0.74 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นการทำให้เกิดความเสถียรภาพทางการเมือง, จะได้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญหลัก, และเป็นการเลือกเฉพาะกิจน่าจะดีกว่า
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่ตัดสินใจลงมติไม่เห็นชอบ ในประเด็นคำถามพ่วง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.24 ระบุว่า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี หรือ ส.ว.ควรมาจากเสียงของประชาชนหรือการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ควรมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รองลงมา ร้อยละ 7.35 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นในที่มาของ ส.ว. สรรหา และกังวลว่าจะมีการเล่นพรรคเล่นพวกในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายตามมา สุดท้ายก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม ร้อยละ 4.28 ระบุว่า การเลือกนายกฯ ควรเป็นสิทธิของ ส.ส. ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ว. ทั้งนี้ ส.ว. และ ส.ส. ควรมีหน้าที่แยกออกจากกันเป็นการให้อำนาจ ส.ว. แบบสรรหา ที่มีจำนวนมากจนเกินไป ร้อยละ 3.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเป็นการส่วนตัว ไม่สมเหตุสมผล และขาดความชอบธรรม ร้อยละ 1.50 ระบุว่า ไม่ชอบระบบการทำงานของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช. และระบบการทำงานของทหาร ที่เผด็จการ ขาดอิสระและเสรีภาพ เป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองมากจนเกินไป ร้อยละ 1.00 ระบุว่า ยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดและเนื้อหาของประเด็นดังกล่าว และร้อยละ 2.64 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ไม่ต้องการเห็นประเทศชาติย่ำอยู่กับที่ เศรษฐกิจไม่ฟื้นฟู ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลชุด คสช. อยู่บริหารประเทศต่อไป หากว่าเห็นชอบแล้ว จะไม่ได้รัฐบาลชุดเดิม จึงไม่เห็นด้วย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ช่วงเปลี่ยนผ่าน และระยะเวลาของ ส.ว. สรรหา 5 ปี นานเกินไป รัฐบาลขาดความมั่นคง น่าจะยุ่งยาก และยังไม่ถึงเวลา ต่อให้เห็นด้วยก็ไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้นมา อีกทั้งประชาชนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ จึงไม่เห็นชอบ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เหตุผลของคนไทยต่อการตัดสินใจการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2559 จากประชาชนที่มี อายุ 18 ปี ขึ้นไป และเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,849 หน่วยตัวอย่าง