นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ สนช.จะมีการประชุมอีกครั้งในเรื่องของรายละเอียด ขั้นตอน และ ปัญหาที่เตรียมไปชี้แจงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการบรรจุประเด็นตามคำถามพ่วงในการจัดทำประชามติที่ผ่านมาเพิ่มเติมลงไปในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีการคิดเผื่อล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กรธ.นำไปประกอบการพิจารณา
"ไม่อยากให้มีอะไรไปกระทบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลัก อยากให้อยู่แต่เฉพาะบทเฉพาะกาล เวลาครบกรอบระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถเดินต่อไปได้เลย ไม่ต้องกลับมาแก้ไข แต่หากมีอะไรไปกระทบกับบทหลัก พอครบ 5 ปี ก็ต้องลับมาแก้ไขอีก เพื่อให้กลับไปสู่ในอีกสภาวการณ์หนึ่ง ตรงนี้เป็นรายละเอียดของกระบวนการและวิธีการในการจะช่วยกรธ.คิด และออกแบบในการแก้รัฐธรรมนูญ มันยากตรงที่ถูกล็อคว่าไม่อยากไปแตะบทหลัก"นายสุรชัย กล่าว
ส่วนประเด็นที่กำลังสับสนในเรื่องอำนาจของ ส.ว. ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก หรือมีอำนาจแค่โหวตอย่างเดียวนั้น นายสุรชัย ระบุว่า ในตอนเสนอนายกฯครั้งแรก ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมาตอนนี้มีอยู่สองขยัก คือ การริเริ่มโดยพรรคการเมือง จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคละ 3 รายชื่อ และมีบทเฉพาะกาลที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการดังกล่าวไม่ผ่าน ก็จะมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ให้สิทธิเสนอคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ สนช.จะหยิบมาพิจารณาว่า ควรจะเป็นขั้นตอนอย่างไร ซึ่งในคำถามพ่วงไม่ได้ระบุไว้