ตัวแทน สนช.แจง กรธ.ประเด็นคำถามพ่วงก่อนปรับบทบัญญัติร่าง รธน.ในบทเฉพาะกาล

ข่าวการเมือง Thursday August 18, 2016 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า ตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เข้าชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก่อนนำไปปรับแก้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน

โดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่หนึ่ง กล่าวว่า กรธ.ต้องรับฟังความเห็นของ สนช.ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบต่อการนำเสนอและชี้แจงคำถามประกอบฯ ต่อประชาชนด้วย ซึ่งตามที่มีผู้ให้ข้อมูลว่าในเวที สนช.บางเวทีมีผู้ระบุว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ด้วยนั้น ตนเองยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างเป็นทางการ เพราะแม้แต่ในเวทีชี้แจงประชาชนและเทปบันทึกการชี้แจงของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ก็ไม่เคยมีคำพูดที่ว่าให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ

ทั้งนี้ ในการรับฟังข้อมูลจากตัวแทน สนช.ก่อนการนำมาปรับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญในส่วนบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามประกอบฯ นั้น โดยส่วนตัวมองว่ามีหลายประเด็นต้องคำนึงถึงให้รอบคอบ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองหรือทางออก หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญได้ เช่น พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาฯ หรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่เบอร์ 1 หรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่เบอร์ 2 ไม่มีบัญชีรายชื่อของบุคคลที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบจะทำอย่างไร หรือกรณีที่บุคคลในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองตัดสินใจถอนตัวออกจากบัญชีฯ ก่อนการลงมติ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่การปรับร่างรัฐธรรมนูญถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามเปิดทางให้ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอีกครั้งหลังการเลือกตั้งนั้น นายสุพจน์ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ได้พูดชัดเจนแล้ว ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกแล้วว่าไม่ขอเป็นนายกฯ

"แต่ทั้งหมดนั้นหากใครจะคิดว่าอย่างไร เขาสามารถกลับมาเป็นได้ทั้งหมด เพราะการตัดสินใจจะกลับมาหรือไม่ อยู่ที่ตัวของผู้นำใน คสช. แต่ทั้งหมดต้องพิจารณาปัจจัยที่สำคัญด้วย คือ การมีบารมี และเป็นที่ยอมรับจากประชาชนด้วย" นายสุพจน์ กล่าว

ด้านนายเธียรชัย ณ นคร กรธ. กล่าวว่า หลังจาก กรธ.รับฟังคำชี้แจงจากตัวแทน สนช.แล้ว กรธ.จะต้องนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกันว่าจะเขียนบทบัญญัติอย่างไร ส่วนที่หลายฝ่ายให้ความเห็น ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นอาจทำให้เกินกว่าตัวเนื้อหาของคำถามพ่วงได้

ขณะที่แนวทางพิจารณาของ กรธ.นั้น ยืนยันว่า ไม่มีเสียงแตก และเห็นตรงกันกับคำให้สัมภาษณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่ว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปตามบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ คือ ขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร และเป็นไปตามบัญชีรายชื่อของบุคคลที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขั้นตอนที่ 2 หากเลือกบุคคลในบัญชีนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองไม่ได้ ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อยกเว้นการใช้บัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ