ประธาน สนช. ระบุส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โยนกรธ.-ศาลฯ พิจารณา

ข่าวการเมือง Monday August 22, 2016 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความเห็นต่อประเด็นการปรับแก้ไขบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การตีความคำถามพ่วงไม่ได้เกินเลยจากที่ถามประชาชน ไม่ได้หลอกลวง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ซึ่งในคำถามพ่วง ได้ถามอย่างชัดเจนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการให้รัฐสภาร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น หมายถึง การมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการแรก ตั้งแต่การเสนอชื่อนายกฯ รวมทั้งเงื่อนไขคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ บทหลักในรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา โดย ส.ส.และ ส.ว.750 คน ต้องให้ความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง

"ท่านต้องไม่มองว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้ใคร แต่อยากให้มองอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่ง ส.ว.อาจจะชอบพรรคการเมืองนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นวิถีทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่จะพัฒนาอย่างมั่นคง ยั่งยืน ไม่ใช่มีแต่อุปสรรคและถามหาแต่มาตรา 7 ซึ่ง ส.ว.มาร่วมด้วยช่วยกันก็ดีแล้ว ถ้าเกิด death lock ทำไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร" นายพรเพชร กล่าว

ประธาน สนช. กล่าวว่า เรื่องระยะ 5 ปีแรกตั้งแต่เปิดรัฐสภาครั้งแรก ส.ว.จะเข้าไปร่วมพิจารณากับ ส.ส.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ หมายความว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ เมื่อนั้น ส.ส.กับ ส.ว.จะพิจารณาร่วมกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่จะพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับบทเฉพาะกาล เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนรอร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเสร็จในเร็ว ๆนี้ จากนั้นก็จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ส่วนที่ ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้หรือไม่ในระยะ 5 ปีนั้น อย่างที่ได้บอกไปว่ากระบวนการร่วมพิจารณามีความหมายกว้าง แต่ถ้ากระบวนการเหล่านั้นกำหนดไว้ในบทหลักแล้ว คำถามพ่วงจะไปลบบทหลักไม่ได้

ทั้งนี้ การให้อำนาจของ ส.ว. ที่จะดำเนินการใดๆได้ ต้องขึ้นอยู่กับการปรับแก้ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ