พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลกับหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีนายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจของจังหวัดให้สามารถนำไปสู่ภาวะที่เอื้อต่อการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน
ทั้งนี้ สถานะทางเศรษฐกิจของจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบันขาดพลังในการขับเคลื่อน โดยภาคการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประชาชนไม่แข็งแรง เป็นเพราะระบบการผลิตแบบดั้งเดิม และมีความเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศ ดังนั้นทางจังหวัดจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยโมเดล "ร้อยเอ็ด 4.101" เพื่อใช้คุณค่าจากศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดตามโมเดล ดังนี้
1.พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา 2.พัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายทางการท่องเที่ยวตามแผนสามเหลี่ยมการท่องเที่ยวสาเกตนคร 3.พัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งสนับสนุนให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ อ.จังหาร อ.ทุ่งเขาหลวง และ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อลดพื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัย และลดพื้นที่ภัยแล้ง
ภายหลังการรับฟังการนำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการพัฒนาว่า การพัฒนาจะต้องสร้างความเข้มแข็งในทุกระดับ และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ตามหลักความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาที่จังหวัดเสนอมานั้น ได้เห็นชอบในหลักการและให้หน่วยงานไปร่วมกันพิจารณาดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกัน ส่วนโครงการใดที่อยู่ในแผนงานของส่วนราชการอยู่แล้ว ให้เร่งรัดดำเนินการให้ได้ในปีงบประมาณ 2560 เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์ และบรรเทาความเดือดร้อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ แผนการพัฒนาต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยง เช่น การท่องเที่ยวจะต้องเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด และจัดเป็นแพ็คเกจการท่องเที่ยวในภูมิภาค หรือการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะต้องเชื่อมโยงในแต่ละระดับ ทั้งถนน, รถไฟ, ท่าเรือ และสนามบิน รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
"ขอให้ส่วนราชการต่างๆ เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาประเทศของรัฐบาล เช่น ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้นโยบายสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากประชาชน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการสินค้าจาก บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีร้อยเอ็ด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีของขึ้นชื่อ ทั้งผ้าไหม, ข้าวหอมมะลิ และปลาร้าแปรรูป โดยนายกรัฐมนตรีได้ทดลองสาวไหมจากฝัก และสอบถามเทคนิคการทำผ้าไหม พร้อมแนะนำให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยในการทำกระเป๋า
นายกรัฐมนตรียังได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูป ซึ่งมีทั้งปลาร้าอัดแห้ง ปลาร้าปรุงอาหาร และปลาร้าทำส้มตำ รวมถึงลงมือทำแกงอ่อมไก่และตำส้มตำด้วยตนเอง และนำไปให้คณะรัฐมนตรีที่ติดตามลงพื้นที่ได้ชิม ก่อนจะระบุว่าเป็นแกงอ่อมไก่ที่อร่อยที่สุดในโลก หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้ามาในหอประชุมฯ เพื่อพบปะกับประชาชนราว 2,000 คน ที่มารอให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนชาว จ.ร้อยเอ็ด ว่า ภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องทำงานให้สำเร็จเพื่ออนาคตของประเทศ คือต้องมีการปฏิรูป แต่ยืนยันว่าไม่เคยใช้อำนาจรังแกใคร โลกใบนี้อยู่ภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเป็นรัฐบาลก็ต้องให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหน้าที่ตนมีเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจในการชี้ผิดชี้ถูกได้ แต่ก็ไม่ทำ เพราะจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกระบวนการยุติธรรม
พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ จ.ร้อยเอ็ด ไม่ว่าประชาชนในพื้นที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งการทำประชามติเป็นการเริ่มต้นกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และขออยากกังวลว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ให้ดูว่าคนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถทำงานได้ดีหรือไม่ และจะทำได้ดีกว่าตนเองหรือไม่
ส่วนกระบวนการเป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขออย่าไปฟังคนที่พูดให้เกิดความสับสน แต่ให้เลือกฟังสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และบุคคลที่พูดทางสถานีโทรทัศน์ต้องมีความระมัดระวังจะกระทำผิด ซึ่งบางกลุ่มตั้งใจดำเนินการเพื่อต้องการให้ถูกจับกุม
"บางคนก็พูดตามช่องทีวี พวกนี้จะติดคุกทุกวันยังไม่เข็ดอีก มีกฎหมายอยู่ แต่ก็ฝืน เขาทำเพื่ออะไร เพื่อต้องการให้มีการจับกุม ต้องการให้ภาพออกไปต่างประเทศ ต้องการให้นักสิทธิมนุษยชนโจมตีเรา ต้องการให้ต่างประเทศมาดูถูกประเทศไทย ในสิ่งที่เขาทำความเสียหายให้กับประเทศไทย จำคำพูดผมไว้นะ หลายๆ เรื่องจะปรากฏออกมาเอง ผมไม่ได้รังแกเขา หลายอย่างไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย ผมก็เอาเข้า 8-9 คดี เป็นคดีใหญ่ๆ ทั้งสิ้น บางคดีเสียหายกับประเทศ มีการปิดบังปกปิดกันมานาน" พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน การจะทำให้ประเทศเดินหน้านั้น ต้องดูแลด้านความมั่นคง ซึ่งการจับกุมผู้กระทำความผิดต่างๆ เจ้าหน้าที่ทำตามหลักฐานและเจ้าหน้าที่ไทยมีความรู้ จบจากต่างประเทศ แต่ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและเปิดหน้าเล่นกันเช่นนี้ ส่วนตัวต้องสู้อย่างเต็มที่
พร้อมระบุว่า ขอให้เชื่อใจตนว่าไม่คิดที่จะสืบทอดอำนาจ และไม่ใช่นักการเมือง แต่เข้ามาในฐานะผู้รับใช้ เพราะเป็นทหารมาก่อน ซึ่งทหารจะต้องรับใช้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้คาดหวังว่าจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เข้ามาด้วยโชคชะตา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ประชุมกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีการเสนอมา 3-4 กลุ่มงาน เรื่องคมนาคม การท่องเที่ยว ซึ่งบางเรื่องจะดำเนินการให้เร็วขึ้น ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยเฉพาะการผันแม่น้ำโขงที่จะใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน ยอมรับว่า จะต้องลงทุนด้วยงบประมาณสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นการดำเนินการจะต้องทำอย่างถี่ถ้วน ต้องมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งปัญหาในการบริหารจัดการน้ำมีมาอย่างยาวนาน เพราะที่ผ่านมาไม่มีการวางแบบแผน ซึ่งจากนี้จะต้องได้รับการแก้ไขให้มีแบบแผนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ได้ฝากประชาชนในพื้นที่มีแนวคิดแบบใหม่ พัฒนาการเกษตรที่จะต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย รวมถึงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวว่าต้องทำให้เกิดความเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการรับจำนำข้าวไม่สามารถทำได้ เพราะสร้างความเสียหาย ทำให้รัฐเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น กระทบต่อระบบการขายข้าวในประเทศ อีกทั้งยังส่งผลต่อพื้นที่การปลูกข้าว เพราะเกษตรกรต้องการผลผลิตข้าว เพื่อเข้าสู่โครงการรับจำนำในปริมาณมาก จนต้องหันมาเพาะปลูกพันธุ์ข้าวระยะสั้น ทำให้คุณภาพด้อยลง มีการปลอมปน ขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมา คือการใช้น้ำในปริมาณที่มาก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญเรื่องของการลงทุนรถไฟความเร็วสูงและเรื่องของเกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกอย่างต้องมีความสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และอยากให้ทุกคนมีความหวัง แม้อนาคตจะยังมองเห็นไม่ชัดเจนก็ตาม แต่อย่างน้อยในขณะนี้ก็เกิดแนวคิดและแผนงานแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ กับ 5 จังหวัด รอบพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ ร้อยเอ็ด, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร และมหาสารคาม ในการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกำหนด 3 เป้าหมาย คือให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นที่รู้จักและยอมรับ ให้ข้าวหอมมะลิเข้มแข็ง และเกิดการเชื่อมโยงทั้งในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเขตทุ่งกุลามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% รวมถึงผลผลิตข้าวหอมมะลิได้รับการรับรอง GI เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15% การแปรรูปข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา สัดส่วนไม่น้อยกว่า 85% ของปริมาณข้าวเปลือกในทุ่งกุลา และเกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตข้าวหอมมะลิลดลงไม่น้อยกว่า 10%