พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากด้วยการช่วยเหลือภาระค่าครองชีพและสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรรวมถึงผู้มีรายได้น้อย โดยสำนักงบประมาณได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐในการดำเนินงานด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2559 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2559 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58-30 มิ.ย.59 พบว่ามีผลสัมฤทธิ์ในการทำงานร้อยละ 78.02 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 4.93
โดยผลสัมฤทธิ์นั้นวัดจากความสำเร็จของหลายโครงการที่รัฐบาลดำเนินการ อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยเบิกจ่ายสินเชื่อไปแล้วร้อยละ 98.76 มีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 3 ล้านราย มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยให้เงินไร่ละ 1,000 บาท ก็ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 99.88 ของเป้าหมาย มีเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 3.6 ล้านราย โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตกรเพื่อให้มีเงินคงเหลือในการดำรงชีพมากขึ้น ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 6 แสนราย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ช่วยชะลอข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาดได้กว่า 5 แสนตัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์แล้วกว่า 7 หมื่นราย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพัฒนาพื้นที่ชลประทาน 172,196 ไร่ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 153 ล้านลบ.ม. พร้อมสร้างแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานอีก 19,073 บ่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำในภาคการเกษตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยเหลือประชาชนด้านความรู้ให้มากขึ้น พร้อมขยายการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา และพัฒนางานทางด้านเกษตรกรรม เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืช การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพดินและสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องที่ การปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี การกำจัดศัตรูพืช ระบบจัดเก็บ ขนส่ง รวมถึงการแปรรูปผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับสินค้าจากท้องถิ่น ไปเป็นสินค้าระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงส่งออกต่างประเทศได้ ก้าวสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0
"ท่านนายกฯ แนะนำให้พี่น้องประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพอเพียงคือไม่ต้องมีการพัฒนา แต่หมายความถึงการประกอบอาชีพโดยอาศัยความรู้ความสามารถบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้เลี้ยงชีพตนและครอบครัวได้อย่างสุขสบายพอตัวไม่ฟุ้งเฟ้อ และหากมีผลผลิตเหลือจากการดำรงชีพแล้วจึงนำออกขาย เป็นรายได้เพื่อเก็บออมและเป็นทุนในการสร้างผลผลิตต่อไป พร้อมทั้งยังต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปของโลก เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากทุกคนเข้าใจและใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ปัญหาปากท้องและหนี้สินของพี่น้องประชาชนก็จะหมดไป" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว