พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังวาง IP Roadmap หรือ แผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระยะ 20 ปี เพื่อปฏิรูประบบการทำงานด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสินค้าไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วน ปี 2560 ตั้งเป้าหมายเปิดตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา (IP Mart) บนโลกออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อหรือผู้ประกอบการได้พบและเจรจากับเจ้าของผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วโดยตรง เพื่อให้เกิดธุรกิจซื้อขายหรือนำผลงานเข้าสู่ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม
"ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด หรือ Priority Watch List (PWL) ของสหรัฐฯ ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามานานกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property หรือ IP) อย่างเพียงพอ และยังพบการละเมิด IP บ่อยครั้ง ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ มีบุคลากรระดับปฏิบัติการไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการจดทะเบียนค้างสะสม ในระยะเร่งด่วนนี้รัฐบาลได้วางแผนเร่งเพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงาน ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมปรับปรุงการทำงานของเจ้าหน้าที่และกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนในการจดทะเบียนให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในระยะยาวจะมีระบบฐานข้อมูลกลางระดับชาติเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ จัดระเบียบการดำเนินงานในภาพรวมทั้งประเทศ และพัฒนากฎหมายให้ได้มาตรฐานสากล"พลตรี สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเจ้าของผลงานที่ได้รับการจดทะเบียน IP แล้วได้แสดงสินค้านวัตกรรมของตนเองในงานจัดแสดงสินค้าต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า และในโลกออนไลน์ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมได้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงสนับสนุนให้มีการประเมินมูลค่า IP และใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับ พณ.ซึ่งเป็นแกนหลักในการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิด IP โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 พื้นที่การค้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหมดไป พร้อมทั้งให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ทุกๆ 3 เดือน
"ท่านนายกฯ ฝากกระทรวงพาณิชย์ให้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ประกอบการถึงความสำคัญของ IP และสร้างจิตสำนึกเคารพสิทธิใน IP ของผู้อื่น รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยหันมาพัฒนาสินค้าโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตนเอง และนำมาจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการและสินค้าไทย"พลตรี สรรเสริญ กล่าว