นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่า หากที่ประชุมกรธ.เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำถามพ่วงฯจะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันนี้ทันที
ส่วนกรณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) บางส่วนยังอยากให้ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปพิจารณา ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นผลดีที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม กรธ.จะส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.จะพยายามเร่งดำเนินการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง ให้เสร็จก่อนให้ระยะเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่
ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อาจจะดำเนินการเป็น 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกถ้าได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นเสร็จแล้ว จะเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาขอเอกสาร ส่วนครั้งที่ 2 จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ กรธ.จัดทำขึ้น
"เวลานี้มีเพียงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ที่ส่งร่างกฎหมายเข้ามายังกรธ. ซึ่งในวันที่ 31 ส.ค. กรธ. ได้เชิญ กสม.มาชี้แจงถึงเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่ามีหลักการเริ่มต้นอย่างไร"
ส่วนกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีแนวคิดที่ทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น จะถือว่าเป็นการขัดกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะต้องรอให้ กกต.ส่งร่างกฎหมายเข้ามาก่อน และในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติขั้นตอนการตั้งพรรคการเมืองว่าทำได้ง่ายหรือยาก
ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอให้ยุบพรรคการเมืองและจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเซ็ทซีโร่พรรคการเมืองมายัง กรธ. ซึ่ง กรธ.ก็ยังไม่ได้มองประเด็นนี้ แต่ถ้ามีการเสนอเข้ามาในอนาคตต้องระบุให้ชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวมีข้อดีอย่างไร