นายกฯ ชี้การพูดคุยสันติภาพต้องเป็นตามขั้นตอน ยันไม่ยกเลิกกม.พิเศษแม้บางพื้นที่ไร้เหตุรุนแรง

ข่าวการเมือง Saturday September 3, 2016 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า การพูดคุยสันติภาพจำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ไม่สามารถเร่งรัดได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาครัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

"การพูดคุยสันติภาพก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเร่งรัดพยายามจะให้เร็วขึ้นให้จบ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันมีขั้นมีตอนของมันอยู่ ถ้าเราเร่งรัดจนเกินไป ก็ทำให้อีกฝ่ายนำเอามาใช้เป็นจุดอ่อนของเราในการที่จะเพิ่มการทำให้รัฐเสียเปรียบได้ โดยการสร้างความรุนแรงมากขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าว่าเหตุใดรัฐบาลถึงไม่ใช้กำลังทหารที่มีอยู่ลงไปกวาดล้างในพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเข้าไปกวาดล้างจะยิ่งทำให้ปัญหาความรุนแรงขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ใช้รัฐบาลส่งกำลังทหารลงไปในพื้นที่ในปัจจุบันนั้นเป็นการเข้าไปช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ดูแลป้องกันการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

"เราใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก อันไหนที่มันไม่เป็นธรรมต้องร้องเรียน ร้องทุกข์ก็ร้องขึ้นมา รัฐบาลก็สอบสวนให้หมด ใครก็ทำผิดไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ทำผิด ไม่งั้นถ้าเราใช้กำลังมากๆ มันเหมือนกับเป็นสงคราม ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น มันก็ลุกลามบานปลาย ขัดแย้งมากขึ้น รุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่วันนี้ระมัดระวังมาก การบังคับใช้กฎหมาย ระวังอย่างเต็มที่" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนที่มีการขอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการใช้กฎอัยการศึกในทุกพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด เพราะการที่รัฐบาลสามารถทำงานได้ทุกวันนี้เป็นเพราะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

"กฎหมายปกติมันทำไม่ได้เลย ไม่ได้มากนัก เพราะอะไร เพราะประชาชนมีปัญหา กฎหมายพวกนี้ไม่ได้ออกมาควบคุมท่าน ถ้าท่านทำความดีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำความผิด จะไปกลัวอะไร มาตรา 44 ก็เหมือนกัน ถ้าทำความดีอยู่แล้วจะกลัวอะไรนักหนา เพราะฉะนั้นถ้าเราไปยกเว้นบางพื้นที่ มันอาจจะทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเหล่านั้นได้ไปปรับวิธีการ สามารถใช้พื้นที่เหล่านั้นที่ยกเว้นไปนั้นเป็นแหล่งซ่องสุม...พื้นที่ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีเหตุรุนแรง ก็จะให้รัฐยกเลิกโดยเร็ว มันไม่ได้ เดี๋ยวก็มีการสับเปลี่ยนการใช้วิธีการ เขาก็คิดเป็นเหมือนกัน เราก็ต้องครอบคลุมตรงนี้ให้ได้ก่อน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาให้ได้ด้วยการบูรณาการให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางด้วยกันอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกันขอความร่วมมือบุคคลบางฝ่ายว่าไม่ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอันเป็นเท็จหรือสร้างความแตกแยกขัดแย้งให้เพิ่มมากกขึ้น เนื่องจากผู้ที่ไม่หวังดีจะรอใช้จังหวะนี้เป็นโอกาสในการสร้างความไม่สงบอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ