พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบที่จะเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ให้ทำหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในส่วนราชการระดับกรม
"นายกรัฐมนตรีมีบัญชาชัดเจนว่า การปราบปรามการทุจริตต่อรัฐต้องมิใช่เป็นเพียงแนวนโนบาย แต่ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ และมีประสิทธิภาพ" โฆษกรัฐบาลระบุ
ทั้งนี้ เมื่อมีข้อมูลรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายถูกดำเนินการตรวจสอบ ก็จะแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เมื่อดำเนินการแล้วจะรายงานผลมายังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อส่งให้หน่วยตรวจสอบ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตง.) พิจารณาต่อไป แต่หากมีความเห็นสอดคล้องกันและไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. ก็จะนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากความเห็นไม่สอดคล้องกัน หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก็จะรอจนกว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.จะแล้วเสร็จ แล้วจึงนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
"ที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวน 237 ราย หากรวมกับที่ประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย. อีก 21 คน จะรวมเป็น 258 ราย ซึ่งในจำนวนนี้การดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดแล้วเสร็จ จำนวน 62 ราย มีผลทางวินัยให้ไล่ออก 8 ราย พ้นจากตำแหน่ง 25 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบกับ ป.ป.ช.ว่าผลการพิจารณาจะตรงกันหรือไม่" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ยังฝากให้พิจารณาถึงกลไกที่เหมาะสมในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริต โดยที่ตนเองอาจมิได้เห็นด้วยแต่ไม่อาจขัดขืนการปฏิบัติตามคำสั่ง
"ท่านนายกฯ แสดงความห่วงใยเป็นพิเศษในกรณีดังกล่าว เพราะคาดว่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมรับผลประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อมูลที่จะยืนยันได้ว่ามีความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากการทุจริตเหล่านั้น" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ จากการเพิ่มกลไกใหม่ คือ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต หรือ ศปท.เข้าเป็นกลไกในทุกกระทรวง และมีการเกลี่ยอัตรากำลังและกำหนดตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ทำให้สถานการณ์การทุจริตลดลงอย่างชัดเจนตามผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตคือ "คนโกงรายเก่าจะหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้ได้โกง"