น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณากรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ..... แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน การนับเวลาแปรญัตติโดยมิชอบ และการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ
โดยที่ประชุมฯ มีมติเอกฉันท์ว่า 1.การกระทำของนายนริศร ทองธิราช กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น มีมูลความผิดทางอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 123 และ มาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่งมาตรา 122 มาตรา 123 และมาตรา 126 วรรคสามเห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดถอนนายนริศร ทองธิราช ออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 56 (1) ประกอบมาตรา 43 (1) และ (2) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสองต่อไป
ส่วนการกระทำของนายคมเดช ไชยศิวามงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 39 และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 340 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีพฤติการณ์ในการฝากบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ไว้กับนายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 162 เพื่อให้ออกเสียงลงคะแนนแทนตนเองหรือผู้อื่น และมิได้เป็นผู้ใช้หรือเป็นตัวการร่วมกับนายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 162 ในการแสดงตนและลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่น นายคมเดช ไชยศิวามงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 39 และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 340 จึงไม่มีความผิด เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
2.การกระทำของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กรณีรู้เห็นให้มีการสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้องตามหน้าที่ของประธานรัฐสภาตามข้อ 90 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 และไม่สั่งให้มีการนำไปเสนอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อรับรองญัตติตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ และกรณีจงใจนับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลังทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ทั้งนี้ กรณีตามข้อกล่าวหาดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เคยมีมติว่าการกระทำของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และได้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 56 (1) มาตรา 43 (1) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาแล้วมีมติไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ออกจากตำแหน่ง จึงเห็นควรไม่ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติ
3.การกระทำของนายอุดมเดช รัตนเสถียร กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 โดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงลายมือชื่อรับรองญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 291 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เห็นควรส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อให้สภานิติบัญญัติ มีมติถอดถอนนายอุดมเดช รัตนเสถียร ออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 (1) ประกอบมาตรา 43 (2) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง