"สุกำพล"แจงตั้งปลัดกลาโหมไม่ขัดกม. สนช.นัดลงมติถอดถอนหรือไม่ 16 ก.ย.

ข่าวการเมือง Friday September 9, 2016 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เป็นประธานการประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยเป็นการซักถามคู่กรณีทั้งในฝ่ายผู้กล่าวหา คือ คณะกรรมกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต

โดยกรรมาธิการได้ถาม ป.ป.ช.ถึงการกล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้อำนาจถูกหรือผิด และหากเปรียบกับคดีของนายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย ในสมัยนั้นที่ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้ง ผอ.องค์การตลาด ซึ่งถูก สนช.ถอดถอนไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค.นั้น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า ขั้นตอนการแต่งทหารชั้นนายพลจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 25 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ในข้อที่ 11 ซึ่งแต่ละหน่วย กรม กองจะต้องคัดเลือกและลงนามรับรองก่อนที่เสนอให้คณะกรรมการระดับกระทรวงที่มี รมว.กลาโหม เป็นประธานพิจารณาต่อไป

แต่พฤติการณ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่าย แทรกแซง โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2555 ขัดต่อระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นการเสนอข้ามกรม ซึ่งตามหลักจะต้องพิจารณาจากคนในก่อน

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับกรณีของนายประชา ประสพดี เป็น รมช.มหาดไทยแล้ว ยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การตลาด (อต.) แต่กลับโทรศัพท์ให้ระงับการประชุมบอร์ดองค์การตลาดที่จะพิจารณาเลิกจ้าง ผอ.อต.ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และเมื่อรับมอบหมายให้ดูแลก็เข้าแทรกแซงบอร์ด อต. ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล ที่ควรนั่งอยู่เฉยๆ รอรับโพย แต่กลับเสนอชื่อ ซึ่งขัดกับกฎหมาย และระเบียบของกระทรวงกลาโหม ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดที่บอกว่า ล้วงลูกไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นรัฐมนตรีแล้ว จึงถือว่ามีความตั้งใจจะแทรกแซงก้าวก่าย และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266

จากนั้นเป็นการซักถาม พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งได้ชี้แจงว่า การนำ พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยากรู้จัก และไม่ได้พาเข้าไปคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะในสมัยเป็น รมว.คมนาคม ก็เคยพาอธิบดีไปพบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายแต่อย่างใด ส่วนการเสนอชื่อตนเองในฐานะกรรมการคนหนึ่งมีสิทธิเสนอชื่อใครก็ได้ และในการประชุมก็ได้เสนอชื่อถึง 2 คน แต่ที่ประชุมมีมติเลือกพล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วนการตัดสินใจเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เนื่องจากเป็นรุ่นน้อง 1 ปี ผ่านตำแหน่งงานสำคัญมา แม้อาวุโสน้อยกว่า พล.อ.ชาตรี แต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงจะต้องทำงานใกล้ชิด รมว.กลาโหม เป็นเหมือนมือขวา และที่สำคัญคือประสานกับกองทัพ ซึ่งการเป็นรุ่นพี่จะประสานงานได้ง่าย

อย่างไรก็ดี ที่ประชุม สนช.ได้นัดแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 15 ก.ย.59 และนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ในวันที่ 16 ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ