กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังผ่าน 1 เดือนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ"โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,156 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59.9 เห็นว่าการใช้ประชานิยมหาเสียงของพรรคการเมืองแบบที่ผ่านมาในอดีตไม่เหมาะสมเพราะมีแค่กลุ่มคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากประชานิยมนั้น ขณะที่ร้อยละ 32.4 เห็นว่าเหมาะสม เพราะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ส่วนที่เหลือร้อยละ 7.7 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่าอยากให้มีการใช้ประชานิยมหาเสียงอยู่อีกหรือไม่ในอนาคต ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.2 อยากให้มี แต่การใช้ประชานิยมหาเสียงควรใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยในจำนวนนี้อยากให้ใช้ประชานิยมตอบสนองด้านเศรษฐกิจแก้ปัญหาของแพง ค่าครองชีพมากที่สุด (ร้อยละ 70.8) รองลงมาคือ ด้านการเกษตร สินค้าเกษตร (ร้อยละ 62.1) และด้านการศึกษา (ร้อยละ 59.6) ขณะที่ร้อยละ 31.6 ไม่อยากให้ใช้ประชานิยมหาเสียง มีเพียงร้อยละ 4.2 ไม่แน่ใจ
ส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมืองพบว่า คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ร้อยละ 16.9 (ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 5.8) รองลงมาคือพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 15.3 (ลดลงร้อยละ 3.8) และพรรคชาติไทยพัฒนามีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (ลดลงร้อยละ 0.9)
สุดท้ายเมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป" พบว่า อันดับแรก (ร้อยละ 26.6) คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ร้อยละ 3.8) และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 3.7)
กรุงเทพโพลล์ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,156 คน