โพลเผย ปชช.มองคำถามพ่วงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญแต่ต้องไม่จุดชนวนขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Sunday September 11, 2016 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพลคำถามพ่วง กับ ความสับสนและความกังวลของสาธารณชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุ คำถามพ่วงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เมื่อถามถึง ความสับสนของสาธารณชน ต่อประเด็นข่าวที่ถกเถียงกันเรื่อง คำถามพ่วง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 รู้สึกสับสน ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่สับสน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามถึงความกังวลต่อความขัดแย้งของคนในชาติต่อประเด็นคำถามพ่วง พบว่า ความกังวลของสาธารณชน เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 64.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอแนะต่อปรากฎการณ์คำถามพ่วง พบว่า ร้อยละ 54.9 ระบุให้ผู้เกี่ยวข้องไปตกลงกันให้เรียบร้อยแล้วกลับออกมานำเสนอประชาชนเลือก ร้อยละ 48.3 ระบุอยากฟังข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ทางแก้ปัญหาปากท้อง โรคระบาด ภัยพิบัติ น้ำท่วม และผลงานรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 41.7 ระบุ ควรมีผู้มีบารมีหาทางออกที่ทุกฝ่ายในกลุ่มนั้นๆ ให้การยอมรับ ร้อยละ 38.8 ระบุไม่ควรเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง เพราะเป็นผู้เข้ามาด้วยวิธีพิเศษบนความคาดหวังให้มาเป็นต้นแบบปรองดอง คนในชาติ ร้อยละ 32.6 ไม่ควรออกมาจุดชนวนทะเลาะกันกับการเมืองกลุ่มต่างๆ คนจะหมดศรัทธากับทางเลือกปัจจุบัน และร้อยละ 10.7 ระบุอื่นๆ เช่น เห็นต่างได้แต่อย่าแตกแยก ไม่ควรใช้ถ้อยคำขัดแย้ง ยั่วยุรุนแรงมุ่งทำงานไปตามแผนที่ในโรดแมป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความหวังที่จะก้าวต่อไป กับ ความมกลัวที่จะก้าวต่อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 มีความหวังที่จะก้าวต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 31.2 มีความกลัวที่จะก้าวต่อ

ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ภาพขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติยังคงตามหลอกหลอนประชาชนอยู่ตลอดเวลา เป็นภาพที่เคยทำให้สาธารณชนรู้สึกว่ามีสัญญาณรบกวน กระทบชีวิตประจำวันของประชาชนให้เดือดร้อน แต่วันนี้กำลังเริ่มมีกระแส “เบื่อ" ภาพความไม่ลงรอยของคนฝ่ายเดียวกัน ทั้งสับสนและกังวล จึงน่าจะหาทางยุติโดยเร็วบนหลักการที่ว่า ทำให้จบข้างในแล้วออกมาให้ประชาชนเลือก เห็นต่างแต่ไม่รุนแรง ไม่ต้องให้เกิดความยืดเยื้อออกไปจากประเด็นขัดแย้ง ทำให้ “จบเร็ว" เพราะหากยืดเยื้อจนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งบานปลายแล้ว ชาวบ้านอาจจะมองว่าคนช่วยชาติยุคนี้จะไม่ต่างกับภาพของนักการเมืองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมเสียเอง

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพลคำถามพ่วง กับ ความสับสนและความกังวลของสาธารณชนกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,559 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ