นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ได้รับพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. และพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว และได้มอบหมายให้ทางฝ่ายเลขาฯตรวจสอบคัดแยกความแตกต่างจากร่างฉบับที่ผ่านมา และดูว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
และในวันนี้ได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ถึงร่างกฎหมายลูกที่ส่งมาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสัมมนาการร่างกฎหมายลูกที่ กรธ.จะจัดช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ ส่วน กรธ.เองยังไม่ได้มีตุ๊กตากฎหมายลูกเอาไว้ ต้องรอรวบความเห็นจากการสัมมนาสิ้นเดือนนี้ก่อน
สำหรับประเด็นที่กกต.มีข้อสงสัย ถึงการกำหนดโทษตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี หรือตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 226 วรรคสาม และมาตรา 98 ข้อ 11 ของร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดโทษตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต จึงไม่เขียนเนื้อหา (ใบดำ ) ไว้ใน รับพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ส.ส. โดยมาตรา 98 ข้อ 11 คือ ลักษณะต้องห้ามตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตฐานทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีคำพิพากษาศาลถึงที่สุด
ส่วนมาตรา 226 วรรคสาม บทลงโทษมี 2 อย่าง คือ ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง หรือตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ซึ่งบางความผิดอาจไม่ถึงขั้นทุจริตเลือกตั้ง แต่ผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ฐานความผิดตามมาตรานี้จะมีระดับ จึงต้องมีการกำหนดแต่ละฐานความผิดให้ชัดในกฎหมายลูกแล้วศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด เช่น มีคนดื่นเหล้าก่อนวันเลือกตั้งมีความผิดแต่ไม่ถึงขั้นทุจริต ศาลก็อาจพิพากษาแค่ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี มันอาจดูรุนแรงไป แต่ก็ไม่ได้มีโทษทางอาญา ต้องถึงขั้นจำคุก ดังนั้น กกต.เข้าใจอย่างไรก็เขียนมา
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มีการเสนอยืดวาระการดำรงแหน่งนั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดเนื้อหา แต่จากร่างรัฐธรรมนูญกรรมการทุกองค์กรจะอยู่ตามเดิม เว้นแต่กฎหมายลูกจะเขียนให้ไม่อยู่ แต่ถ้าจะไม่ให้อยู่ก็ต้องให้เหตุผลประกอบ