นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเอฟทีเอ กระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กองทุนเอฟทีเอได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดดอกที่มีแหล่งเพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, ลำพูน และพิจิตร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพราะมีสินค้าในกลุ่มไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ หัวพันธุ์ไม้และไม้กระถางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศ และแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น จึงต้องหาทางช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้
ทั้งนี้ กองทุนเอฟทีเอได้จ้างคณะที่ปรึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้การช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาพันธุ์ และศึกษาแนวทางการขยายตลาดสินค้าไม้ตัดดอกของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีเป้าหมายที่ตลาดญี่ปุ่น เพราะไทยส่งออกไม้ดอกไปจำหน่ายมากที่สุด รวมถึงตลาดเนเธอร์แลนด์ ซึ่งผลิตและส่งออกไม้ตัดดอกอันดับต้นของโลก
โดยทำให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 3 สายพันธุ์ คือ ลูกผสมปทุมมา สกุลขมิ้น ชื่อพันธุ์สตาร์เลท, ลูกผสมกระเจียว สกุลขมิ้น ชื่อพันธุ์ พิงค์ เมโลดี้ และลูกผสมกล้วยไม้ สกุลฮาเบนาเรีย ชื่อพันธุ์ ลานนาแองเจิล ซึ่งได้จดทะเบียนรับรองพันธุ์พืชแล้ว เพื่อป้องกันการแอบอ้างสิทธิ และป้องกันการละเมิดในอนาคต อีกทั้งยังสามารถพัฒนาวิธีการผลิตให้เพาะปลูกได้นอกฤดู
"การช่วยเหลือครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และไม่ต้องกังวลจะถูกไม้ตัดดอกจากต่างประเทศตีตลาด เพราะสินค้าที่ผลิตได้ มีตลาดรองรับในประเทศ และยังส่งออกหัวพันธุ์ไม้ไปญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ โดยในปี 58 มีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท ส่วนปี 59 น่าจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
นอกจากนี้ กองทุนเอฟทีเอยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้รวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการผลิตและจำหน่ายไม้ตัดดอก ช่วยเหลือลดต้นทุน การบริหารจัดการ จนได้รับมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร และตามมาตรฐานสากล Global GAP
"ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่ไม้ตัดดอกได้การรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสากล อีกทั้งกรมฯ ยังสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนทั้ง 5 แห่ง พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกไม้ตัดดอก ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น" นางดวงพร กล่าว