พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต.ฉบับใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงหลักการในหลายประเด็นตามที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติได้บัญญัติไว้ ซึ่ง กกต.จะขอนัดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวในวันที่ 29 ก.ย.59 หลังจากจัดส่งร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวให้กับ กรธ.ภายในวันที่ 26 ก.ย.นี้
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวคือ 1.การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก 2.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในระหว่างที่มีกรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกรรมการการเลือกตั้งเหลืออยู่ไม่ถึง 4 คน ให้กระทำได้แต่เฉพาะการที่จำเป็น อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ
3.ให้มีจำนวนกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดละ 5 คน โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยคำนึงถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และสัดส่วนของแต่ละด้าน คือ ด้านการเมืองและการเลือกตั้ง ด้านกฎหมายและการสืบสวนสอบสวน ด้านความมั่นคงในพื้นที่ ด้านการให้ความรู้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน และด้านภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้คณะกรรมการฯ ประจำจังหวัดมาจากหลากหลายอาชีพและเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
4.มาตรการลงโทษข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการเลือกตั้ง โดยให้มีบทลงโทษทางอาญาด้วยนอกเหนือจากโทษทางวินัย เพื่อให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีมาตรการลงโทษกับบุคคลที่ไม่ให้ความช่วยเหลือในการจัดการเลือกตั้งตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
5.ให้การสืบสวนหรือการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้ง หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการเลือกตั้ง เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
6.การคุ้มครองพยานในขั้นตอนการสืบสวน หรือไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือการดำเนินคดีเลือกตั้งในศาล โดยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองพยานในคดีอาญาในการคุ้มครองพยานในคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้การสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7.คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจพิจารณาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามกฎหมายที่มีอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากบุคคลดังกล่าวได้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดยินยอมเข้ามาให้การต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
8.กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายสำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแส ดดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดอัตราการจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแสสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส., การเลือก ส.ว. และการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น จำนวนตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท ส่วนการเลือกตั้งการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ให้จ่ายสินบนนำจำนวนตั้งแต่ 30,000-80,000 บาท
9.การบริจาคเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง และการหักลดหย่อนการบริจาคเงิน โดยกำหนดให้มีการบริจาคโดยแสดงเจตนาในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีให้กระทำได้ปีละ 100 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยอธิบดีกรมสรรพากร รวมทั้งผู้บริจาคแก่กองทุนโดยตรงในกรณีดังกล่าวมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้สองเท่าของเงินบริจาคแต่ไม่เกิน 50,000 บาทในกรณีบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 200,000 บาทในกรณีนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกคนช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง
10.สถานะของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2550 เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติแล้ว และตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. โดยให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ
11.การสรรหากรรมการเลือกตั้งเพิ่มเติม คือ กำหนดให้ดำเนินการสรรหากรรมการการเลือกตั้งให้ครบจำนวนตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง (1)ภายใน 45 วันนับแต่ประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป.กกต. โดยให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง