น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงเปิดสำนวนกล่าวหา นายอุดมเดช รัตนเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง (กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภา) ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ว่า จากการไต่สวนได้ความว่า ส.ส. และส.ว. จำนวน 314 คนร่วมลงรายมือชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว. ต่อมานายอุดมเดชได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัวนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มเป็น 13 มาตรา ไปสลับกับฉบับเดิม โดยเปลี่ยนแปลงหลักการและสาระสำคัญเปลี่ยนเป็นทำให้ส.ว.ที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งสามารถลงสมัครเลือกส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งฉบับเดิมไม่มีหลักการดังกล่าว ต่อมาประธานรัฐสภาได้ส่งสำเนาแก้ไขเพิ่มเติมให้แก่สมาชิกรัฐสภา และลงมติวาระที่ 1, 2 และ3 ซึ่งสมาชิกรัฐสภาได้ลงมติ แต่ฉบับดังกล่าวนี้ไม่ได้รับความยินยอมจากสมาชิก 314 คน เป็นร่างที่ไม่ได้มีการลงรายมือชื่อ
“การที่นายอุดมเดชแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งคำชี้แจงของนายอุดมเดช ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นการแก้ไขจาก 12 มาตรา เป็น 13 มาตรา เพื่อให้ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งส.ว. สามารถสมัครเป็นส.ว.ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ดังนั้น ร่างฉบับใหม่ที่มี 13 มาตรา จึงเป็นไม่มีสมาชิกร่วมลงชื่อเท่ากับว่าเป็นร่างปลอม ทำร้ายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทำลายความน่าเชื่อถือ ประชาชนเสื่อมศรัทธา และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า มิได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่นายอุดมเดชเสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค.56 มาใช้ แต่ได้นำร่างใหม่ที่แตกต่างจากเดิมมาใช้ในการพิจารณาแทนซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกร่วมลงชื่อ ทำให้การรับหลักการในวาระหนึ่งเป็นไปโดยมิชอบแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นวินิจฉัยของศาลและป.ป.ช.สอดคล้องกัน ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายอุดมเดชละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิดกฎหมายป.ป.ช. ปี 42 และปี 52"
ด้านนายอุดมเดช ได้แถลงโต้แย้งคัดค้านว่า การสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีสมาชิกลงรายชื่อและการสับเปลี่ยนร่างกระทำได้หรือไม่นั้น การยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างเดิมที่ยื่นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และไม่ตัดสิทธิ์ส.ว.ปัจจุบันที่สามารถลงสมัครได้ จึงมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และเห็นตรงกันว่าสามารถแก้ไขได้ตราบใดที่ประธานรัฐสภายังไม่บรรจุวาระ และเมื่อใดก็ตามที่บรรจุวาระแล้วให้ถือเป็นร่างของรัฐสภาที่หากจะแก้ไขต้องขอเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อสนับสนุน เมื่อประธานรัฐสภายังไม่บรรจุวาระจึงนำสำเนาร่างมาขอปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ได้ร่วมลงรายมือชื่อเอาไว้ ดังนั้นร่างที่ประธานบรรจุวาระและเอกสารที่สมาชิกได้รับก็ตรงกับเอกสารที่ใช้บรรจุคือร่างที่ปรับปรุงแล้ว ประกอบกับไม่มีสมาชิกที่ร่วมลงรายชื่อทักท้วงว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสมาชิกที่ลงชื่อ แสดงให้เห็นว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่สมาชิกย่อมรับทราบอยู่แล้ว
นอกจากนี้ นายอุดมเดชยังได้ยกคำให้การของพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาระดับสูงและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกว่า 10 คน ที่ให้การไว้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม และเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยไม่ถือว่าเป็นการเสนอญัตติใหม่ไม่ต้องให้สมาชิกลงรายชื่อรับรองอีก เพราะเป็นเพียงการแก้ไขปรับปรุงรอการบรรจุระเบียบวาระสามารถที่จะแก้ไขได้ ยืนยันว่าการดำเนินการของตนทำอย่างเปิดเผย ไม่ได้แอบ มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาว่าได้แก้ไขตามข้อบังคับการประชุม ตนไม่ได้มีเจตนาปกปิด ทุจริตแต่อย่างใด การสับเปลี่ยนร่างสามารถกระทำได้ก่อนจะบรรจุระเบียบวาระ ผู้ร่วมลงรายมือชื่อไม่ต้องเสนอชื่อใหม่ เพราะเป็นการแก้ไขปรับปรุงที่ไม่ขัดกับหลักการเดิม นอกจากนั้นยังมีรายงานการประชุมของสนช.ที่ไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขร่างรธน. เกี่ยวกับที่มาส.ว. โดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มกรณีของตนด้วย รวมสนช.ไม่ถอดถอน 38 ส.ว. ในกรณีการแก้ไขร่างรธน. เกี่ยวกับที่มาส.ว. และไม่ถอดถอน 248 ส.ส.คดีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณามาโดยตลอด จึงขอให้สมาชิกสนช.พิจารณาด้วยความเป็นธรรม
ส่วนการที่ป.ป.ช.กล่าวหาว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้สนช.เป็นผู้วินิจฉัยเอง
จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการซักถาม จำนวน 7 คน และนัดประชุมเพื่อซักถามคู่กรณีในวันที่ 14 ต.ค. 59