ป.ป.ช. ยกคำร้องถอดถอน"ยิ่งลักษณ์" ปมจัดซื้อจัดจ้างเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ-รมว.กลาโหม

ข่าวการเมือง Friday October 7, 2016 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 โดยมาตรา 103/8 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ

ทั้งนี่จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน ป.ป.ช.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0053 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2554 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ผู้ถูกกล่าวหามีบัญชาให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 103/8 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดยจัดเข้าวาระการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันดังกล่าว ได้พิจารณาความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาประกอบ แล้วมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0015 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/6806 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและมีความเห็นปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ 663/2555 สรุปได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีการแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และหลังจากได้เข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนดและแนวทางการเปิดเผยราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างตามมติที่ประชุมหารือระหว่างกระทรวงการคลังและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้หากหน่วยงานใดมีความพร้อมให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนหน่วยงานใดที่ยังไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ตามคำร้องขอให้ถอดถอน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ