ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด"อภิสิทธิ์-กรณ์-ศิริโชค"กรณีขอให้ถอดถอนปั่นหุ้นไทยคม

ข่าวการเมือง Friday October 7, 2016 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายกรณ์ จาติกวณิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง และนายศิริโชค โสภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีแพร่ข่าวสู่สาธารณชนเมื่อปี 2553 ว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมหรือหุ้นของ บมจ.ไทยคม คืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม โดยมิชอบ

ทั้งนี้ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้ว่าการซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคมไม่ได้มีกำหนดไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 และกิจการดาวเทียมไทยคมอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้รับโอนกิจการดังกล่าวมาจากกระทรวงคมนาคม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศและตาม พ.ร.ฎ.โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 72 (4) ประกอบกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2545 แต่กรณีการเดินทางไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด นั้นมีเหตุผลความเป็นมาสืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทำให้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2553 และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น โดยปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ซึ่งใช้บริการช่องสัญญาณ Ku-Band ดาวเทียมไทยคม 5 ของ บมจ.ไทยคม ได้ทำการเสนอข่าวที่เป็นการฝ่าฝืนตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนั้น ศอฉ.จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/201 ลงวันที่ 6 เมษายน 2553 ขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แจ้งให้ บมจ.ไทยคม ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว และ ศอฉ.ได้มีหนังสือ ที่ กห 0407.45/209 ลงวันที่ 9 เมษายน 2553 แจ้งให้ บมจ.ไทยคม ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวอีกด้วย แต่ บมจ.ไทยคม ได้มีหนังสือ ที่ ทค(ส) 038/2553 ลงวันที่ 12 เมษายน 2553 ชี้แจงว่าไม่สามารถระงับสัญญาณการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ได้ โดยอ้างเหตุผลถึงข้อจำกัดทางเทคนิคและปัญหาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาคัดค้านการระงับสัญญาณออกอากาศดังกล่าว

ด้วยเหตุดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ จึงได้มีบัญชาให้นายกรณ์ ในฐานะ รมว.คลัง และนายศิริโชคในฐานะเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อชี้แจงสถานการณ์ให้ผู้บริหารของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.ไทยคม โดยได้เดินทางไปในวันที่ 17 เมษายน 2553 และเข้าพบกับนายซี วาย แกน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับทราบปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในและขอความร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขความมั่นคงของประเทศไทย นอกจากนี้ได้มีการหารือร่วมกันเพิ่มเติมว่าแนวทางหนึ่งอาจจะเป็นการซื้อสินทรัพย์ดาวเทียมไทยคมคืนจากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งเป็นเพียงการพูดคุยหารือในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมหลายประเด็น และได้กลับมารายงานให้นายอภิสิทธิ์ทราบ โดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ หรือปรึกษาเพิ่มเติมกับบุคคลอื่นๆ อีก และผลที่สุดแล้วรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด แต่อย่างใด จากพยานหลักฐานดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

ประเด็นต่อมา กิจการดาวเทียมไทยคมเป็นสัญญาสัมปทานที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยดาวเทียมที่สร้างขึ้นต้องถูกโอนให้เป็นของรัฐบาลไทย และ บมจ.ไทยคมเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้นดาวเทียมไทยคมจึงมิใช่ทรัพย์สินของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าดาวเทียมไทยคม เป็นกิจการที่ บมจ.ไทยคม (เดิมชื่อบริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด) ได้ตกลงรับดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ (เดิมชื่อบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด) ได้ทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 กับกระทรวงคมนาคม มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี บมจ.ไทยคม ได้รับสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม โดยยินยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่จัดตั้งขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงที่เป็นคู่สัญญา ตามเงื่อนไขในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2534 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 6 ซึ่งปัจจุบันสัญญาดังกล่าวได้เปลี่ยนโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารแล้ว และ บมจ.ไทยคม ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537

แต่จากการตรวจสอบตามข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้นและรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.ไทยคม ณ วันที่ 17 มีนาคม 2553 ปรากฏชื่อ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกมีสัดส่วนการถือหุ้น 41.14% จำนวน 450,870,934 หุ้น และตามข้อมูลทะเบียน ผู้ถือหุ้นและรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2553 ปรากฏชื่อบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรก มีสัดส่วนการถือหุ้น 54.432% จำนวน 1,742,407,239 หุ้น และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่สอง มีสัดส่วนการถือหุ้น 41.685% จำนวน 1,334,354,825 หุ้น โดยทั้งบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด กรณีนี้จึงสรุปความเกี่ยวพันได้ว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2553 บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของ บมจ.ไทยคม โดยการถือหุ้นผ่านทาง บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ และบริษัทย่อยทางอ้อม

ส่วนประเด็นที่ว่าดาวเทียมไทยคมเป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ จึงไม่เกี่ยวกับกิจการทางความมั่นคงตามที่ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ได้แพร่ข่าว จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรณีที่ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ให้สัมภาษณ์ข่าวต่อสื่อว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อกิจการดาวเทียมไทยคมคืนจากบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นการให้ข้อมูลตามความจริง เนื่องจากโดยแท้จริงแล้วบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด มีความเกี่ยวพันถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของ บมจ.ไทยคม โดยถือหุ้นผ่านทาง บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นส์ และบริษัทย่อยทางอ้อมอีกชั้นหนึ่ง ส่วนประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน 2553 ซึ่งสถานีโทรทัศน์พีเพิ้ลชาแนล (People Channel) ได้ทำการเสนอข่าวที่เป็นการฝ่าฝืนตามข้อกำหนดที่ออกใช้บังคับในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทางหน่วยงานที่ควบคุมดูแลสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการให้ บมจ.ไทยคม ยุติการส่งสัญญาณให้กับสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว จึงต้องขอความร่วมมือไปยังบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด จากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการแพร่ข่าวอันเป็นความเท็จ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

และประเด็นที่ 3 การให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม หรือไม่ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าสภาพการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากทั้งด้านราคาและปริมาณการซื้อขาย ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าของวันที่ 14 มิถุนายน 2553 แต่การให้สัมภาษณ์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค เป็นการให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงน่าเชื่อว่าสภาพการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากข่าวที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ มิใช่เกิดจากการให้สัมภาษณ์ ประกอบกับนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค ไม่ได้เริ่มต้นให้ข่าวเอง แต่เป็นการตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเท่านั้น การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายศิริโชค จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 238 มาตรา 239 หรือมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ส่วนการให้สัมภาษณ์ข่าวของนายกรณ์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 นั้นเป็นการให้สัมภาษณ์หลังจากตลาดหลักทรัพย์ได้ปิดทำการซื้อขายแล้ว โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ข้อมูลใหม่อย่างอื่น จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 238 มาตรา 239 หรือมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

นอกจากนี้ จากการสอบทานข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ถูกร้อง บุคลากรของกระทรวงการคลังและบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) รวมถึงบุคคลในคณะรัฐบาล ไม่พบว่ามีการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม พบเพียงบุคคลที่มีนามสกุลคล้ายกับบุคคลในคณะรัฐบาลซื้อขายหุ้นจำนวน 16 ราย แต่ตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายแล้ว ไม่เข้าข่ายเป็นการใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีผู้ต้องสงสัยที่ซื้อหุ้น บมจ.ไทยคม จำนวนมากในลักษณะน่าสังเกตจำนวน 2 รายนั้น จากผลการตรวจสอบไม่มีข้อมูลที่จะบ่งชี้ว่าเป็นการซื้อหุ้นอันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม ในช่วงวันที่ 14-15 มิถุนายน 2553 ที่มีอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นกว่าปกติจนน่าสังเกตนั้น เป็นไปตามกลไกปกติของตลาดที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากสนใจซื้อขายหุ้นนั้นในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ จากอิทธิพลของข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนในขณะนั้น โดยไม่พบข้อมูลที่แสดงว่ามีการสร้างราคาหลักทรัพย์โดยบุคคลใด จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบกรณีดังกล่าว จากพยานหลักฐานดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้สัมภาษณ์ข่าวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เป็นการเอื้อให้บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น บมจ.ไทยคม โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้ไม่มีมูล

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะซื้อคืนกิจการดาวเทียมไทยคม ตามที่กล่าวหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ