นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามที่มีการกล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม และคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการ ว่า พล.อ.อ.สุกำพล แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการกรณีบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการโดยมิชอบ รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการ ได้สอบสวนกรณีการบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมิชอบ
ทั้งนี้ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงก่อนที่ พล.อ.อ.สุกำพล จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ได้มีผู้ร้องเรียนเพื่อขอให้ถอดยศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเรียกคืนเงินเดือนและเบี้ยหวัด ต่อมาเมื่อ พล.อ.อ.สุกำพล เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งผลการสอบสวนสรุปได้ว่าเอกสารต้นขั้วใบสำคัญ (แบบ สด.9) ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 แบบ สด.1 และ แบบ สด.27 ฉบับจริง ทั้ง 3 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าบัญชีทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 แต่ในการขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการได้ใช้เอกสารใบสำคัญ (แบบ สด.9) (แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย) ลงวันที่ 8 เมษายน 2531 ไม่ใช่ฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ในการขึ้นทะเบียนจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว ได้มีการหารือข้อกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การเสนอแต่งตั้งได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนการปฏิบัติราชการและผ่านสายการบังคับบัญชาตามปกติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
การดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งแต่งตั้ง โดยมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสาร มีการนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา มีการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการให้สิทธินายอภิสิทธิ์ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ หากไม่สามารถมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ได้ ก็สามารถยื่นเป็นเอกสารหลักฐานได้ และไม่มีการคัดค้านบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ แต่อย่างใด ซึ่งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้ดำเนินการรวมรวมพยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบแต่อย่างใด โดยขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 875/2552 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2552 จึงเป็นนายทหารประเภทที่ 5 ตามข้อบังคับทหารฯ และสามารถถูกดำเนินการทางวินัยและถูกปลดออกจากราชการได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 5 และตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ.2502 ข้อ 4 (2) ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ได้กระทำผิดวินัยทหารร้ายแรงขณะอยู่ในราชการ จึงเสนอให้สมควรปลดออกจากราชการ และในการเสนอคำสั่งปลดออกจากราชการก็เป็นไปตามขั้นตอนโดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามสายงานปกติ ประกอบกับศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวแล้วว่าคำสั่งที่ให้ปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งโดยชอบแล้ว จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า พล.อ.สุกำพล ได้เข้ามาสั่งการ แทรกแซง หรือเร่งรัดดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ แต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ การสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ และการมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป