นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า กรธ.ยังคงให้การตั้งสาขาพรรคการเมืองของแต่ละจังหวัดมีสมาชิกในแต่ละสาขา 500 คนตามเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรคให้ครบทั้ง 4 ภาค โดยเปิดช่องไว้ว่าหากจังหวัดใดมีสมาชิกพรรคเพียง 50-100 คน ก็ให้ตั้งตัวแทนพรรคได้ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการวางนโยบายของพรรคหรือประชุมใหญ่ร่วมกับพรรค
ส่วนคุณสมบัติของกรรมการบริหารพรรคนั้น ได้กำหนดให้มีคุณสมบัติในลักษณะเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และบุคคลที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคได้
ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งต่างๆ ที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องมี คือ หัวหน้าพรรค, เหรัญญิกพรรค และนายทะเบียนพรรค ส่วนเรื่อง การสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองจะต้องมีคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย ผู้บริหารพรรค, ผู้แทนสาขาพรรค และตัวแทนพรรค
"เมื่อสรรหาแล้วเสร็จแต่คณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วย จะต้องนำกลับไปให้กรรมการสรรหาพิจารณาอีกครั้ง แต่หากกรรมการสรรหายังยืนยันตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทาง กรธ.กำลังพิจารณาว่าจะกำหนดให้งดส่งผู้สมัครในเขตนั้น หรือจะให้เรียกประชุมใหญ่พรรค เพราะหากกรรมการสรรหา กับกรรมการบริหารพรรคตกลงกันไม่ได้ แล้วเราไปกำหนดให้ใครชี้ขาดก็เป็นปัญหาอีก" นายมีชัย กล่าว
ส่วนการเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า จะแยกเป็น 2 ส่วน คือการจัดงานระดมทุน และการบริจาค โดยกรณีการจัดงานระดมทุนนั้น หากใครที่ให้เงินพรรคการเมืองมากกว่า 1 แสนบาท จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ ส่วนการบริจาค ถ้ามากกว่า 5 พันบาทก็ต้องเปิดเผยชื่อเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องยกเลิกมาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองจัดการประชุมกำหนดโครงสร้างพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้
"เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ก็ต้องดูว่าอะไรที่ต้องปรับให้สอดคล้อง ซึ่งไม่มีปัญหา หากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำอะไร พรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตาม" นายมีชัย กล่าว
พร้อมระบุด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการหารือถึงการปรับแก้ไขคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะส่งกลับมาให้ กรธ.ปรับแก้ต่อไป
นายมีชัย ยังชี้แจงถึงกรณีที่มี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้วนั้น มีบทบัญญัติว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปตามกลไกตลาด ใครจะไปช่วยเกษตรกรไม่ได้ จำนำข้าวก็ไม่ได้ ประกันราคาข้าวก็ไม่ได้ว่า การกล่าวอ้างแบบนั้นเป็นความเท็จ และเป็นการตั้งใจหลอกลวงชาวบ้านให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ