พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังหาข้อสรุปในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมไม่ได้ตามกำหนดระยะเวลาโดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.นี้ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้
"ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการถ่วงเวลาการพิจารณา แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาองค์ประชุม อีกทั้งกรรมาธิการฯ บางคนไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน และมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายประเด็นแต่ไม่ถึงขั้นแตกแยก จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้อย่างรอบคอบ ทำให้การพิจารณาล่าช้าออกไป"
สำหรับเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ มีเพียงมาตรา 33 ที่ได้มีความเห็นตรงกันให้ปรับเปลี่ยนให้สามารถโอนข้ามแปลงได้ เพื่อบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์
ส่วนเรื่องการเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ รมว.คลัง เห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ ให้ปรับอัตราการจัดเก็บนั้นเป็นเรื่องที่ รมว.การคลัง จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง
ส่วนข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียด และรัฐบาลรับทราบแล้ว โดยได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปศึกษา ดังนั้นกรรมาธิการฯ จึงจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะเดียวกันกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากวาระการพิจารณาของ สนช. แต่จะเดินหน้าทำตามหน้าที่ในการพิจารณาวาระ 2 ต่อให้เสร็จ
"เรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเราคุยกันทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ผมเห็นว่าการตั้งองค์กรใหม่ขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษาทั้งเรื่องงบประมาณ เรื่องคน รัฐบาลและทุกคนจึงต้องช่วยกันศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเป็นแผนระยะยาว ไม่ใช่ตั้งมาแล้วล้ม ส่วนเรื่องที่มีคนมาเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายออกนั้น ผมไม่มีอำนาจ ซึ่งหากจะให้ถอน ประธาน สนช.ต้องหารือกับรัฐบาลก่อน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เรื่องนี้ หน้าที่ของผมก็ต้องพิจารณาวาระ 2 ให้เสร็จ" พล.อ.สกนธ์ กล่าว