นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมายังไม่ได้มีการหารือเรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้ คสช.คงจะพิจารณาเรื่องอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดกติกาให้พรรคการเมืองมีเรื่องต้องเร่งดำเนินการ กรธ.คงไม่ได้ไปเสนอให้ คสช.ปลดล็อค ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวริดรอนสิทธิของประชาชนและพรรคการเมืองนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้ริดรอนสิทธิ แต่กลับเป็นเพิ่มสิทธิให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และมีสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องทุนประเดิมพรรคการเมืองจำนวน 2,000 บาท ที่บางฝ่ายมองว่าเป็นเงินที่มากไปนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเงินน้อยนิด หากจะมาตั้งพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองแต่ไม่มีสตางค์มาเป็นทุนเลยจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างไร เพราะการตั้งพรรคการเมืองจะต้องมีทุนพอสมควร
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองไม่ได้มีความมุ่งหมายในการบีบพรรคเล็กและไม่ได้นำไปสู่การเอื้อต่อพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ แต่จะเป็นพรรคของประชาชน และถ้าจะตั้งพรรคการเมืองโดยให้คนเพียง 2-3 คนเป็นผู้จ่ายเงินแล้วจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนได้อย่างไร
"เราได้รับฟังจากทุกภาคส่วนแล้วจึงอยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ดังนั้นเราจึงเห็นว่าพรรคการเมืองจะเป็นของประชาชนได้ ประชาชนก็ต้องร่วมลงทุน เพราะขนาดจะไปทอดกฐินที่วัด คณะกรรมการร่วมทำบุญยังต้องใส่ซองออกเงินเลย" นายมีชัย กล่าว
สำหรับการสัมมนาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ หากรับฟังความเห็นแล้วจะนำมาปรับแก้ประเด็นใดบ้าง นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนไปที่ไหนก็รับฟังหมด อย่างล่าสุดมีคนเสนอมาว่าการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองเก่าต้องชำระค่าสมัครสมาชิกภายใน 150 วันนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะกว่าจะติดต่อสมาชิกได้ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องนี้ก็รับฟังและเห็นว่ามีเหตุผล จึงคิดว่าอาจจะมาปรับแก้ในเรื่องของระยะเวลาที่อาจขยายออกไปอีกได้
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ออกมาปฏิเสธที่จะร่วมสัมมนาในวันดังกล่าว ซึ่งการปฏิเสธก็ถือว่ายอมรับแล้ว และถ้าไม่มาร่วมสัมมนาก็ไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าพรรคการเมืองใดประสงค์จะส่งเอกสารข้อเสนอมาก็ยินดีรับฟังจนกว่าจะถึงวันที่ กรธ.ส่งร่างไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า โดยหลักพรรคการเมืองต้องตั้งง่าย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภูมิภาค ทุกระดับสาขาอาชีพ แต่หลายมาตราในร่าง พ.ร.บ.นี้ขัดหลักการ เช่น การกำหนดต้องให้สมาชิกพรรคจ่ายเงิน 100 บาทต่อปี เพิ่มสมาชิกพรรคให้ได้สี่หมื่นคนภายใน 4 ปี เงินจำนวนนี้เหมือนจะไม่มาก แต่คนที่ไม่มีคือไม่มี
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าคนจนนั้นมีอุดมการณ์ แค่ไม่มีเงิน หากใช้เงินเป็นตัวตั้ง พรรคการเมืองจะมีแต่สมาชิกคนรวย แต่ขาดกลุ่มชาวบ้านภูธรในพื้นที่ เป็นพรรคการเมืองที่ขัดหลักการการมีส่วนร่วมประชาชน และขจัดนายทุนครอบงำพรรคไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วมด้วย นโยบายพรรคโดนใจ ได้ประโยชน์อะไรเมื่อสนับสนุนพรรคนั้นๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล เป็นผู้ปกครองประเทศ ถ้าคนระดับล่างยังยากเข็ญ และประเทศก็จะพัฒนาไม่ได้
ส่วนการกำหนดโทษรุนแรงนั้นได้ ยิ่งแรงยิ่งดีสำหรับพวกทำทุจริต แต่ไม่ควรเหมารวมรุนแรงถึงขนาดทำผิดรายคนแต่ยุบทั้งพรรคเหมือนอดีต จะไม่มีใครได้ผุดได้เกิด จะเกิดการกลั่นแกล้งมีคดีให้สอบสวนกันไม่หวาดไหว ซึ่งวันนี้คนไทยยังแย่งอำนาจกันอยู่ การกลั่นแกล้งมันต้องเกิดแน่ คนอิจฉาริษยาจะมีวิธีกลั่นแกล้งแยบยลทุกที
"ผมชอบใจคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ที่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีความเป็นสากล แต่เมื่อดูรายละเอียด พ.ร.บ.พรรคการเมือง คงไม่ได้ดั่งใจนายกฯ แน่ ผิดมาตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ที่อำนาจไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเปรียบเหมือนตัวคน มี หู ตา จมูก แขน ขา ลำตัวสมบูรณ์แบบหมด แต่หัวใจมันรั่ว หัวใจคืออำนาจที่มาจากประชาชน มันไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแม้จริง พอหัวใจรั่ว เป็นโรคหัวใจก็ตายไม่รอดแน่ มีชีวิตอยู่ไม่ได้นานหรอก มาวางยาแรงไล่หลัง ถ้าไม่ถูกหลัก ก็เข้าวังวนเกิดรัฐประหารอยู่ดี"นายดิเรก กล่าว