นักการเมืองจวกร่าง พ.ร.ป.ขัดหลักสิทธิเสรีภาพ-คลุมเครือ-เกิดข้อจำกัด, กรธ.พร้อมรับข้อเสนอไปทบทวน

ข่าวการเมือง Wednesday December 14, 2016 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานสัมมนาชี้แจงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ขณะนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำลังอยู่ในขั้นพิจารณา เมื่อได้รับฟังความเห็นแล้ว กรธ.ก็จะนำกลับไปทบทวน เพราะ กรธ.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญด้านการเมืองโดยตรง จึงต้องอาศัยการรับฟังความเห็นจากผู้รู้มาประกอบการพิจารณาด้วย

"ขอเรียนว่าที่วิจารณ์กันว่า กรธ.จัดการรับฟังความเห็นเป็นพิธีการนั้นไม่จริง ที่ผ่านมา กรธ.รับฟังความเห็นมาโดยตลอดเพื่อจะได้รับรู้ว่าผู้เชี่ยวชาญในวงการการเมืองคิดเห็นอย่างไร สิ่งที่ กรธ.ร่างกฎหมายจะใช้ได้หรือไม่ อะไรที่เป็นสิ่งดี กรธ.ก็จะได้นำไปปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นโทษ กรธ.ก็จะนำมานั่งคิดคำนึงว่า มีความเหมาะสมหรือไม่" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ.ไม่มีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะต้องจัดทำ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตามกรอบในรัฐธรรมนูญ โดยในรัฐธรรมนูญนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องและกำกับการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2 มาตรา คือ ในมาตรา 45 ที่บัญญัติว่า กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองต้องมีเรื่องการบริหารพรรคการเมืองให้เป็นอิสระ ให้สมาชิกมีส่วนร่วม ไม่ถูกครอบงำโดยบุคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง พร้อมทั้งมีมาตรการไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

และในมาตรา 258 (2) ระบุว่าเรื่องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ต้องให้พรรคการเมืองสามารถถูกตรวจสอบได้ และจะต้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ มีกลไกให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ทำเพื่อประชาชน อย่างเต็มความสามารถ

อย่างไรก็ตาม การที่ กรธ.กำหนดเรื่องค่าสมาชิกพรรคการเมืองก็เพื่อให้เขามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ภายใต้ผู้มีอิทธิพล หรือนายทุนที่เป็นผู้ออกเงินทุน แล้วสมาชิกก็เป็นผู้นั่งเป็นตราประทับเท่านั้น ขอเรียนว่า กรธ.ไม่ได้ใจร้ายในการที่บัญญัติบทลงโทษต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น แต่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช.กล่าวว่า สภาพความเป็นจริงหลังรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกบังคับใช้นั้นจะมีพื้นที่ทางการเมือง 2 แบบคือ 1.พื้นที่ทางการเมืองโดยอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านกระบวนการของพรรคการเมือง และ 2.พื้นที่ทางการเมืองโดยอำนาจพิเศษผ่านกระบวนการลากตั้งทั้งหลายตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลายประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่อยากขยายภาพปัญหาให้ชัดขึ้นหากนำมาบังคับใช้ คือ จะทำให้พื้นที่การเมืองในระบบแคบลง คนที่จะเข้าสู่สนามการเมืองผ่านการเลือกตั้ง หรือตั้งพรรคการเมืองเพื่อแสดงบทบาทในเรื่องที่สนใจเป็นการเฉพาะจะมาด้วยข้อจำกัด ทั้งเรื่องเงินค่าก่อตั้ง ค่าสมาชิก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทอดกฐินที่ประธาน กรธ.กล่าวอ้าง เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับให้กรรมการต้องจ่ายเงินแบบการก่อตั้งพรรคการเมือง การหาจำนวนสมาชิก บทลงโทษต่างๆ และแรงเสียดทานจากสมมติฐานที่ถูกสร้างว่านักการเมืองเป็นพวกโกงชั่วร้ายไปทั้งหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ผลที่สุดคือ คนที่สนใจการเมืองจะเกิดวิธีคิดว่าพื้นที่การเมืองนอกระบบเป็นเรื่องง่ายกว่า ดูดีกว่า และมีโอกาสเข้าสู่อำนาจอย่างปลอดภัยมากกว่า แม้กระทั่งกลุ่มสนับสนุน เช่น กลุ่มทุนทั้งหลายก็จะเห็นว่าต้องยืนอยู่กับอำนาจนอกระบบ เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบและบทลงโทษ คำถามคือ กติกาแบบนี้หรือที่จะนำการปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่น พรรคการเมืองทุกพรรคต้องปฏิรูปตัวเองและแสดงรูปธรรมที่ชัดเจนเรื่องหลักการประชาธิปไตย หากยังย่ำอยู่กับที่ ภายใน 5 ปีจะหาที่ยืนไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจนอกระบบ ซึ่งหมายถึงการเอาอำนาจของประชาชนไปยอมจำนนด้วย พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันได้ภายใต้กติกานี้ แต่จะเป็นได้โดยสำนึกทางการเมืองที่ถูกต้องของตัวนักการเมืองเอง

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนายื่นเอกสารข้อเสนอแนะต่อ กรธ.ดังนี้ 1.การจัดตั้งพรรคการเมืองที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะการกำหนดให้มีทุนประเดิมของผู้ร่วมจัดตั้ง พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องจ่ายทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ส่งผลให้มีกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจหรือมีต้องการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถหาทุนประเดิมได้ และไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้

2.ไม่ควรห้ามบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคล

3.บทบัญญัติในร่างที่กำหนดไว้กว้าง แต่กลับมีบทลงโทษที่รุนแรง คือ การกำหนดกิจกรรมทางการเมืองตามหลักปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 23 กำหนดไว้แบบกว้าง และมีบทกำหนดโทษถึงขั้นยุบพรรค กรณีห้ามพรรคหรือผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือและห้ามไม่ให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ตามมาตรา 29 และมาตรา 30 มีโทษถึงขั้นยุบพรรค จำคุก และปรับ และเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง ซึ่งหากเกิดจากการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรหรือไม่

4.ยังมีบทบัญญัติในร่ากฎหมายที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน เช่น มาตรา 10 วรรคสาม ห้ามใช้ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยังไม่พ้น 20 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ หากมีความประสงค์จะห้ามใช้ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เหตุใดต้องกำหนดระยะเวลา เช่น มาตรา 22 วรรคสอง เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือให้มีการเลือก ส.ว. แล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรืออาจเป็นคุณเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับการเลือกเป็น ส.ว. ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้น หากต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. เหตุใดจึงกล่าวรวมไปถึงเมื่อมีพระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส. ด้วย

หรือมาตรา 32 ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิก ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่ให้ กกต. กำหนดภาคละอย่างน้อย 1 สาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนภายใน 4 ปีนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า ต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ภายใน 4 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน คือการเพิ่มจำนวนสมาชิกพรรคในแต่ละสาขา

5.บทบัญญัติในร่างที่อาจทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ หรือปฏิบัติได้ยากจนเกินไป เช่น มาตรา 46 การพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมือง ให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วยนั้น จะทำให้เกิดความยุ่งยากทางปฏิบัติ หรือปฏิบัติได้ยากในข้อเท็จจริง

6.ข้อเสนอแนะ ไม่ควรบังคับให้สมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุง เนื่องจากขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ หากบุคคลทั่วไปหือสมาชิกพรรคมีความศรัทธาในพรรคการเมือง ก็จะแสดงความประสงค์ที่จะชำระค่าบำรุงเอง ไม่จำเป็นต้องบังคับให้สมาชิกชำระค่าบำรุง กรณีที่นายทะเบียนจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมือง หากคดีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมอื่น เห็นควรให้การพิจารณาคดีดังกล่าวถึงที่สุดก่อน แล้วค่อยพิจารณายุบพรรคการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในผลการพิจารณาคดี

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นข้อเสนอดังนี้ .สังคมไทยและประชาชนไทยยังขาดความคุ้นเคยกับการให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรคเกือบ 3 ล้านคน ได้พพยายามสนับสนุนให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินบำรุงอัตราพรรคเพียง 20 บาทต่อปี แต่สมาชิกในปัจจุบันจ่ายเงินบำรุงพรรคไม่ถึงหมื่นคน เพราะสมาชิกพรรคที่มีสิทธิเลือกประธานและคณะกรรมการบริหารพรรคตบอดจนเข้าร่วมประชุมใหญ่ของพรรค แต่ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองกับประสบปัญหาการถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นในบางยุคมีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามครองอำนาจรัฐมักอาศัยอำนาจดังกล่าวกลั่นแกล้งบุคคลที่ปรากฎว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องยากที่จะจูงใจประชาชนจ่ายเงินบำรุงพรรคเพื่อเป็นสมาชิกแต่กลับต้องเสียสิทธิดังกล่าว

นอกจากนั้น หากนายทะเบียนพรรคการเมืองยังคงไม่อำนวยความสะดวกในการรับสมัครสมาชิกและจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมืองโดยไม่อนุญาตให้ดำเนินการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และหากต้องมีเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ก็จะทำให้การดำเนินการรับสมัครสมาชิกและการจ่ายเงินบำรุงพรรคมีความยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการชักชวนประชาชน ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายใหม่แล้วก็ควรต้องมีมาตรการในการตรวจสอบมิให้พรรคการเมืองฉ้อฉลจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคแทนสมาชิกด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ กรธ.ทบทวนข้อกำหนดเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อให้สมารถปฏิบัติได้จริง และไม่ทำลายล้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับสมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพะการให้พรรคการเมืองติดต่อสมาชิกในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีจำนวนนับล้านเพื่อให้จ่ายเงินบำรุงพรรคภายใน 150 วัน แทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากต้องใช้เวลาเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายใหม่และเจตนารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะเป็นการดำเนินการผ่านช่องทางไปรษณีย์ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงขอเสนอให้ในบทเฉพาะกาลควรอนุญาตให้พรรคการเมืองมีสมาชิกใน 2 ประเภทไปก่อน โดยให้สมาชิกปัจจุบันที่ยังไม่ชำระค่าบำรุงพรรค คงสถานภาพความเป็นสมาชิกไว้ แต่จะไม่มีสิทธิหรือถูกนับรวมกับสมาชิกพรรคที่ชำระค่าบำรุงพรรค โดยอาจขยายเวลาให้สมาชิกกลุ่มนี้ดำเนินตามบทบัญญัติใหม่ภายใน 4 ปี แนวทางนี้จะสอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่กับพรรคการเมืองเดิม

2. ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองนี้มีแนวโน้มที่ทำให้พรรคการเมืองลดความสำคัญของสาขาพรรคการเมือง เนื่องจากทุกสาขาพรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกที่จ่ายเงินบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งพื้นที่ที่พรรคการเมืองนั้นไม่มีผู้แทนราษฎร ทังนี้การมีระบบตัวแทนสมาชิกในจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจะทำให้พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง นำระบบนี้มาใช้เป็นหลักแทนที่จะมีการตั้งสาขาโดยจะคงสาขาพรรคไว้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขในกฎหมาย คือ เพียงภาคละ 1 สาขาเท่านั้น เนื่องจากการใช้ระบบตัวแทนสมาชิกในจังหวัดมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่า และตัวแทนของจังหวัดจะมาจากการแต่งตั้งทำให้อยู่ในการควบคุมของคณะกรรมการบริหารในส่วนกลางได้ง่ายกว่า

นายอุดม รัฐอัมฤต โฆษก กรธ. แถลงภาพรวมของการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองต่างๆ มากกว่าการรับฟังความเห็นครั้งที่แล้วที่รัฐสภา การสัมมนาวันนี้มีประเด็นที่ กรธ.ต้องนำไปพิจารณาคือ 1.จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง 2 หมื่นคนมากไปหรือไม่ 2.ทุนประเดิมพรรคคนละ 2พันบาท เพื่อให้ทุนประเดิมพรรคได้ 1 ล้านบาทนั้นมากไปหรือไม่ 3.ค่าบำรุงสมาชิกคนละ 100 บาทต่อปี ควรมีหรือไม่ 4.โทษของผู้กระทำผิดต่อพรป.นี้แรงเกินไปหรือไม่

โฆษก กรธ.กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.ป.นี้ กรธ.ไม่ได้คิดเอาเองแต่ทำตามรัฐธรรมนูญ ผ่านการปรึกษาจาก กกต. รวมทั้งผ่านการดีเบตของกรรมาธิการฯ มาหลายขั้นตอน เพื่อให้กฎหมายนี้ดีกว่าปี 50 และเมื่อมีการปรับแก้ไขแล้วก็มีการสอบถาม กกต.อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและทำประโยชน์เพื่อประชาชน และยืนยันว่ากฎหมายนี้ กรธ.มีหลักการและเหตุผลรองรับทุกมาตรา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ