นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศปี 2560 ว่า เงื่อนไขระยะเวลาการกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ยอมรับว่าประเมินได้ยากเพราะจะต้องคำนึงถึงความพร้อมของพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่า กรธ. ได้พิจารณายกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยยึดโรดแมพของรัฐบาลเป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของ กรธ. ในการยกร่างกฎหมาย กกต. และพรรคการเมืองก่อน เพื่อให้สามารถปรับตัว ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ในกฎหมายลูก ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองไว้ 180 วัน หากพรรคกรเมืองดำเนินการได้เสร็จสิ้นก่อนก็จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เร็วขึ้น
ในด้านพรรคการเมือง สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือการทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ประชาชนมีส่วนรับรู้และมีส่วนร่วมมากที่สุด กรธ. ไม่ได้คาดหวังจะต้องเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่สามารถเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไป เพราะในอดีตที่ผ่านมาสิ่งที่ประสบกับพรรคการเมืองคือความนิยมที่จะได้คะแนนเสียงเป็นสำคัญ เนื่องจากระบบเดิมประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น แต่ระบบใหม่ประชาชนมีสิทธิไม่เลือกใครเลย เพราะผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วไม่ถูกเลือก ก็จะลงสมัครเลือกตั้งซ่อมอีกไม่ได้
ส่วนองค์กรอิสระ สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน ทั้งที่องค์กรหรือตัวบุคคลอาจมีความตั้งใจดีในการทำงาน แต่ถ้ากลไกประสิทธิภาพและความรวดเร็วไม่เอื้ออำนวยก็จะทำให้บั่นทอนชื่อเสียงเกียรติคุณขององค์กร การเปลี่ยนแปลงคราวนี้จึงต้องทำให้องค์กรอิสระทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น และตัวองค์อิสระเองก็ต้องตระหนักและเตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อให้การทำงานสอดรับกับกฎหมายลูกที่จะเกิดขึ้น
ส่วนจะเกิดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2560 หรือ ต้นปี 2561ได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถยืนยันแทนใครได้ แต่ย้ำว่า กรธ. ยังคงเดินหน้าตามโรดแมพของรัฐบาล โดยมีกรอบระยะเวลาจัดทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับให้เสร็จสิ้นภายใน240 วัน หลังร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
พร้อมขอให้ทุกคนเข้าใจ กรธ.ว่าไม่ได้จงใจทำสิ่งใดด้วยเหตุความรังเกียจพรรคการเมือง หรือนักการเมือง แต่มุ่งมั่นที่จะทำให้การเมืองอยู่ในระบบที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริงและแก้ปัญหาในสังคมที่เคยมีและเป็นต้นเหตุของความไม่สงบสุขในสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาทุกคนคงตระหนักดีว่าการเมืองไทยไม่ค่อยมีเสถียรภาพ รวมถึงความไม่สอดคล้องระหว่างกฎ กติกากับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งมักจะนำรูปแบบการปกครองประเทศอื่นมาปรับใช้โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบสังคมไทยที่หลายอย่างไม่เหมือนกับต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเกิดกลไกใหม่ๆ ในกฎหมายลูก
อีกทั้งขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและบ่อยมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการศึกษาให้รู้เท่าทันก็อาจจะกลายเป็นคนล้าหลังและเสียเปรียบในการแข่งขัน
"ของใหม่ย่อมเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนในสังคมและเป็นธรรมดาที่คนจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าทุกคนทำตามกติกา บทลงโทษที่มีก็คงไม่ได้ใช้ เพราะใช้กับคนที่กระทำผิด"
ส่วนกรณีที่มีการคงอำนาจตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ให้มีผลบังคับใช้ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่นั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คสช.คงอำนาจไว้เพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นและเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศให้ลุล่วง ไม่ใช่การสกัดกั้นพรรคการเมือง ในการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มีผลบังคับใช้ คสช.คงตระหนักและพิจารณาว่าจะผ่อนคลายมาตรา 44 กับพรรคการเมืองได้เมื่อใด
ส่วนกรณีที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับการจัดทำกฎหมายลูกนั้น ทาง กรธ. มองว่าการมาร่วมหรือไม่มาร่วมนั้นไม่ใช่อุปสรรค เนื่องจาก กรธ.รับฟังความเห็นทุกทางมาโดยตลอดอยู่แล้ว