ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเอกฉันท์ 155 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เห็นด้วยกับรายงานเรื่อง "การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เข้มแข้งยิ่งขึ้น โดยให้นำรายงานฉบับนี้ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป แม้ว่าจะมีสมาชิก สปท.บางส่วนท้วงติงข้อเสนอบทลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาการทุจริตที่แท้จริง และเป็นบทลงโทษซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ
นายวันชัย สอนศิริ ประธานคณะอนุกรรมาธิการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า สาระสำคัญของรายงานฉบับดังกล่าว คือ การปฏิรูป การควบคุม และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง สามารถเอาผิดรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่หวังผลทางการเมือง มีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่นำข้อมูลเท็จมาอภิปราย กำหนดคุณสมบัติองค์กรอิสระต่างๆ ต้องมีที่มาชัดเจนและมีความหลากหลาย กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใส
ขณะเดียวกันยังเสนอบทลงโทษคดีทุจริต หากเป็นคดีที่สร้างความเสียหายมูลค่า 100-1,000 ล้านบาท ให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต และคดีที่สร้างความเสียหายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปให้มีประหารชีวิต
ทั้งนี้ นายเสรี สุวรรณภานนนท์ ประธาน สปท.การเมือง ชี้แจงว่า ข้อเสนอบทลงโทษประหารชีวิตในคดีทุจริตนั้น ยึดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ที่มีการกำหนดอัตราโทษทั้งคุมขัง ยึดทรัพย์ จำคุกตลอดชีวิต และประหารชีวิตในคดีทุจริต การที่ สปท.การเมืองเสนอบทลงโทษรุนแรงเพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความยับยั้งชั่งใจ
"เชื่อว่าเป็นมาตรการเหมาะสมที่จะป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ เพราะโทษแค่จำคุกตลอดชีวิตใช้ไม่ได้ ต้องใช้ยาแรง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ"นายเสรี กล่าว