นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า วิป สนช.มีมติบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในวันที่ 13 ม.ค.นี้ โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดเพื่อความรวดเร็วและให้เป็นไปตามโรดแมพ หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำหนังสือด่วนถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับปี 2557
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใน 2 ประเด็น คือ เรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเงื่อนเวลาการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของตัวร่างแก้ไขได้ พร้อมให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชี้แจงถึงผู้ที่จะรับผิดชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่าจะเป็นหน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ สนช.หรือรัฐบาลจะเป็นผู้แก้ไขเอง
แหล่งข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช..... ที่ส่งให้ สนช.พิจารณาแก้ไข 3 วาระรวดในวันที่ 13 ม.ค. มีทั้งหมด 4 มาตรา โดยมีเนื้อหาดังนี้
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช....”
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
"ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง"
และ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"เมื่อนายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ
เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป"