นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการหารือที่ประชุมร่วม ครม.-คสช.มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษจำนวน 8-10 คน เพื่อดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน โดยจะคัดเลือกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีอยู่กว่า 100 คน ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะสามารถช่วยตรวจสอบได้มาทำหน้าที่ คือ ยกร่างและตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัฐธรรมนูญประมาณ 3-4 มาตรา ไม่เช่นนั้นจะถูกสังคมกล่าวหาได้ว่ารัฐบาลจะมีการสอดแทรกแก้ไขมาตราอื่นๆ อีก
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน และรอโปรดเกล้าฯ ลงมาภายใน 30 วัน จากนั้นก็จะมีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าวขึ้นมาทันที เพื่อดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในไม่กี่วัน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมอบให้องคมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว
สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษนี้จะประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายพรเพชร วิชิตชลชัย, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายดิสทัต โหตระกิตย์, นายอัชพร จารุจินดา, นายอำพน กิตติอำพน, ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ, นายอภิชาต สุขะคานนท์ และตนเอง พร้อมทั้งดึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้ามาช่วยในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานข้อมูลต่างๆ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติอาจจะกระทบในบางมาตราที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ยืนยันไม่ได้แก้ไขในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแนวนโยบายของรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. รวมถึงบทเฉพาะกาล และไม่ยืดเวลาใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงจึงมีความจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ แต่หากไม่แก้ก็จะใช้หลักการเดิมตั้งแต่ปี 2475 หลังจากแก้ไขเสร็จแล้ว 30 วัน นายกรัฐมนตรีก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากนั้นก็อยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะที่การยกร่างกฏหมายลูก 4 ฉบับนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังยึดแนวทางเดิม คือ ร่างในส่วนที่สำคัญก่อน ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็จะต้องทำหน้าที่ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งโรดแมพยังเดินตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่มีการตัดขั้นตอนหรือยืดเวลาใดๆ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งอาจจะต้องกำหนดใหม่เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ข้ออ้างนี้ แต่คือความจริงที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ซึ่งก็ล้วนขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยในการกำหนดวันและเวลา ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะไม่อยู่ในวันและเวลาดังกล่าว แต่จะยังอยู่ตามกำหนดเดิมของโรดแมพ
"แน่นอนการเลือกตั้งมันจะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาช่วงเวลาอย่างนี้เป็นอันขาด เมื่อจบส่วนนี้ไปแล้ว ซึ่งมันก็ยังอยู่ในกำหนดตามโรดแมพ เข้าใจว่าพอไปถึงช่วงหนึ่งแม้ยังไม่เลือกตั้งก็คงประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้ เพราะมันเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว และทุกอย่างปล่อยกลับคืนไปให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนจะประกาศวันเลือกตั้งได้ก่อนปีใหม่หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเองคงตอบไม่ได้ แต่ทุกอย่างนายกรัฐมนตรีให้ใช้คำพูดอย่างเดียวกันว่า ยังอยู่ในโรดแมพเดิม
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ เพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน แต่ดูตามร่างแก้ไขแล้วประเด็นไม่กว้างไกล ซึ่งจะแก้ไขเฉพาะข้อสังเกตที่ส่งมาจากสำนักพระราชวัง
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 นั้นจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ก.พ.60 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา และดำเนินการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติภายใน 30 วัน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษนี้จะเริ่มดำเนินการทันทีนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีรับพระราชทานร่างกลับคืนมา
นายมีชัย ยอมรับว่า การปรับแก้ไขประเด็นพระราชอำนาจจะส่งผลกระทบต่อคำปรารภและมาตราอื่นๆ เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการที่ร่างใหม่กำหนดให้แต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องไปแก้ไขประเด็นของประธานองคมนตรีที่เป็นผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติ และปฏิเสธที่จะให้คำยืนยันถึงโรดแมพการเลือกตั้งว่าจะเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้จึงจะสามารถเริ่มนับหนึ่งในกระบวนการได้