ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) เพื่อบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ทั้งสามวาระพร้อมกัน
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอมานั้นประกอบด้วย 4 มาตรา โดยสาระสำคัญประกอบด้วย
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
"ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และ มาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ"
และ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวสืบเนื่องจากสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมายังรัฐบาลว่าได้มีข้อสังเกตบางประการ ซึ่งสมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ และเมื่อรัฐบาลได้พิจารณาร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วเห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรจะดำเนินการไปในขณะนี้ เพราะหากผัดผ่อนที่จะรอดำเนินการต่อไป และสมมติว่าเมื่อรอให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงค่อยดำเนินการแก้ไข แม้กลไกในทางกฎหมายจะทำได้แต่ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก
"เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การจะแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางข้อความ หรือบางมาตรา หรือบางหมวด จำเป็นจะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน และจะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาว และจะกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง แต่ถ้าหากสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นประเด็นที่เล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณาใหม่ ก็น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเป็นการเหมาะสม และไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น"นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อถวายแล้วทุกอย่างตกอยู่ในพระราชอำนาจ ในฐานะองค์พระประมุข และผู้ที่จะทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญใช้คำว่า "ทรงพิจารณา" และเมื่อพิจารณาแล้วหากไม่ทรงเห็นชอบด้วยก็พระราชทานกลับคืนทั้งฉบับ ดังที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 7 และในรัชกาลที่ 9 โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย