นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) กล่าวถึงการเดินสายพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการตั้ง ปยป. ว่า เมื่อช่วงเช้าได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยพูดคุยถึงการทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมการปฏิรูป และได้เสนอให้เพิ่มบทบาทของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากเดิมที่มีเพียงตัวแทนมาคุยกัน เป็นให้เพิ่มกรรมาธิการของ สนช.และ สปท.มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปและสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่ายเป็นกรรมมาธิการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ
ขณะที่รายชื่อรองนายกรัฐมนตรีที่จะมานั่งใน 4 คณะย่อยของ ปยป.นั้นยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีรายชื่อปรากฏออกมา โดยนอกจากรองนายกรัฐมนตรีแล้วจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
นอกจากนี้ ตนเองได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถึงโครงสร้างของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อหาแนวทางว่าการสร้างความปรองดองจะผนวกรวมกับการปฏิรูปได้อย่างไร โดยเฉพาะการขับเคลื่อนคณะกรรมการที่ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบดูแล รวมถึงอีก 3 คณะที่เหลือ ซึ่งจะรายงานผลการหารือทั้งหมดต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ
นายสุวิทย์ กล่าวถึงการจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ที่คาดว่าจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดตั้งสำนักงานนี้ โดยวางโครงสร้างองค์กรให้สามารถตั้งขึ้นง่าย ยุบง่าย 2 ปีต้องจบ หากรัฐบาลหน้าจะทำต่อก็สามารถทำได้ โดยดึงคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน และต้องมีความคล่องตัว มีงบประมาณเป็นของตัวเอง เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งยังเหลือโควต้าที่ยังไม่แต่งตั้งเข้าให้มาทำงานปฏิรูประดับบัญชาการใน 10 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ทีม โดยจะสรรหาคนที่เก่งและดีมาทำงานตรงนี้ ไม่เกิน 10 คน จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานระดับรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยคณะทำงาน คณะทำงานโดยใช้ระบบจัดจ้างพิเศษ
"บทบาทของ PMDU คือการตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของ ป.ย.ป. ที่สำคัญคือสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้ โดยรายงานตรงต่อนายกฯ และการทำงานจะไม่ล้ำเส้นบทบาทของรองนายกฯ เป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ ผลงานที่ออกมาจะเป็นของรัฐบาล ไม่ใช่พีเอ็มดียู เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผล" นายสุวิทย์ กล่าว