กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจ เรื่อง “ทางออกของความปรองดองในสังคมไทย” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 เห็นด้วยว่าควรให้พรรคการเมืองและคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือทางออกโดยทำสัจจะวาจาร่วมกัน และให้ลงนามข้อตกลง (MOU) เป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความปรองดองให้แก่สังคม โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่าประเทศจะเดินหน้าพัฒนาได้เร็วขึ้น (ร้อยละ 59.1) รองลงมาคือ จะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้เร็วยิ่งขึ้น (ร้อยละ 47.1) และจะได้มีหลักฐานชัดเจน ไม่มีใครกล้าละเมิดข้อตกลง (ร้อยละ 43.0) ขณะที่ร้อยละ 20.5 เห็นว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังไงก็กลับมาขัดแย้งอยู่ดี และร้อยละ 4.3 ไม่แน่ใจ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 47.2 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุดว่าการสร้างความปรองดองโดยการทำ MOU ในข้างต้นจะช่วยทำให้สังคมเลิกขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่ายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะที่ร้อยละ 43.8 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.1 เห็นว่า มาตรา 44 ยังมีความจำเป็นกับสังคมไทย หากรัฐบาลต้องการสร้างความสามัคคีปรองดอง ขณะที่ร้อยละ 19.8 เห็นว่าไม่จำเป็นแล้ว ส่วนที่เหลือร้อยละ 8.1 ไม่แน่ใจ
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.2 ยังเห็นด้วยกับการรีเซ็ตนักการเมืองในปัจจุบันด้วยการให้เว้นวรรคการเมือง 1 สมัย เพื่อให้ผ่านข้อครหาที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง และให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน หากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือร้อยละ 10.9 ยังไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 อยากให้การปฏิรูปสร้างความปรองดองแล้วเสร็จก่อนถึงค่อยจัดการเลือกตั้งหรือเดินหน้าเลือกตั้งเลยตามโรดแมพที่วางไว้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 อยากให้มีการเลือกตั้งเลยตามโรดแมพที่วางไว้ และเดินหน้าปฏิรูปต่อไปพร้อมๆ กัน ส่วนที่เหลือร้อยละ 6.2 ยังไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "ทางออกของความปรองดองในสังคมไทย" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,216 คน เมื่อวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา