(เพิ่มเติม) ประธาน สนช. เผยหารือเลขาฯ ป.ย.ป. ยันร่วมเดินหน้าลุยงานปรองดอง-เร่งปฏิรูปกม. ดีเดย์ 1 ก.พ.

ข่าวการเมือง Friday January 20, 2017 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวภายหลังการร่วมหารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) พร้อมด้วยรองประธาน สนช.ทั้ง 2 คนว่า ได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมการ ป.ย.ป. โดยนายสุวิทย์ได้รับมอบหมายให้มาประสานงานกับ สนช.ใน 3 เรื่อง คือ 1.รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่จะปฏิรูปประเทศเป็นหลักใหญ่ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในระหว่างทูลเกล้าฯ 2.เรื่องยุทธศาสตร์แห่งชาติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และ 3.เรื่องการปรองดอง

ประธาน สนช. กล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องนั้น สนช.มีส่วนร่วมในด้านกฎหมาย โดยต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช.ที่ตั้งใจปฏิรูปประเทศ และวางยุทธศาสตร์สร้างความปรองดองก่อนคืนอำนาจสู่ประชาชน โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่ง สนช.ต้องมีบทบาทในเชิงรุกไม่ใช่รับอย่างเดียว ดังนั้นต้องดูว่ากฎหมายใดที่จำเป็นก็ต้องช่วยเร่งรัดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกกฎหมายโดยเร็ว

ประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวคงเข้าร่วมเป็นกรรมการทั้ง 3 คณะ และมีรองประธาน สนช.อยู่ด้วยเพื่อเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเบื้องต้นหากเป็นเรื่องของการปฏิรูปนั้น สปท.จะต้องเป็นหลักในการเสนอแผนงานหรือโครงการเข้ามา ส่วน สนช.อาจเสนอแนะให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายหรือไม่ ส่วนรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับความเห็นนี้หรือไม่ ถ้าเห็นด้วยในเรื่องใดก็ให้เร่งรัดมา โดยจะเป็นรูปแบบกรรมการที่กระทัดรัดมีผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า องค์ประกอบของ สนช.ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ป.ย.ป.จะมีประธาน สนช.เป็นตัวหลักใน 3 คณะกรรมการข้างต้น และนายพรเพชรได้มอบหมายให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 มาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ส่วนคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มอบให้นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 มาร่วมเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ย.ป.และคณะกรรมการ 4 ชุดจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีได้ภายในสัปดาห์หน้า และเริ่มทำงานได้พร้อมกันวันที่ 1 ก.พ.นี้

สำหรับเรื่องการปฏิรูปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า นายสุวิทย์ กล่าวว่า มีการดำเนินการใน 5 เรื่องสำคัญภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง และยังมีการปฏิรูปอีก 2 เรื่อง คือ การปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้ได้ช่วงนี้ ซึ่งมุมมองของ สปท.และ สนช.เห็นตรงกันว่า การทำงานของทั้ง 3 ฝ่าย คือ สนช., สปท.และ ครม.จะต้องทำงานร่วมกันภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป

โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องดูวาระปฏิรูปที่สำคัญซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบเป็นนโยบายมาว่า จะทำเรื่องใดบ้างให้เกิดความชัดเจนในปี 2560 และต้องทำให้ความต่อเนื่องต่อไปในอนาคต โดยในวันที่ 25 ม.ค.นี้จะเป็นการส่งตัวแทนจากแม่น้ำ 3 สายมาหารือเพื่อกำหนดวาระที่จะปฏิรูป ก่อนที่แม่น้ำ 3 ฝ่ายจะจัดทำเวิร์คชอปร่วมกันในต้นเดือน ก.พ. ประกอบไปด้วยตัวแทนจากรัฐบาล คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, ตนเอง, ประธาน สปท.และกรรมาธิการของ สปท. รวมถึงประธาน สนช.และกรรมาธิการ สนช.เข้าหารือเพื่อตอบโจทย์คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ

"สำหรับบทบาทในการปฏิรูป ตัวหลักจะเป็น สปท.แต่ตัวที่จะทำให้การขับเคลื่อนคือรัฐบาล เราจะถักห่วงโซ่ใหม่ โดยมองว่าการปฏิรูปจะขึ้นรูปโดย สปท.แต่ถ้าเป็นเรื่องของกฎหมายจะดึงออกมาและจะรับลูกต่อโดย สนช.อย่างไร และหลังจากนั้นรัฐบาลซึ่งเป็นคนขับเคลื่อนจะรับลูกต่อกันอย่างไร เป็นเรื่องของกฎหมาย ลำดับความสำคัญวาระสำคัญในการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นจากเวิร์คช็อป" นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับทีมงานของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มยูดี) จะคัดเลือกมาจากผู้ช่วยรัฐมนตรี 4-5 คน ส่วนหัวหน้าสำนักงานพีเอ็มดียูได้มีการทาบทามนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมารับตำแหน่ง โดยเห็นว่านายอำพลมีประสบการณ์จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาก่อน น่าจะเข้าใจเรื่องยุทธศาตร์ชาติ ทั้งมิติของเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงรู้กลไกวาระต่างๆ ในระดับกระทรวงที่จะมาถึงนายกรัฐมนตรี และผ่านการทำงานใน ครม. รู้จักวิธีจัดการ แก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมถึงเป็นมือประสานสิบทิศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ