นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานสัมมนา"การรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...."ว่า แม้ว่าประเทศจะมีกสม.มานานกว่า 10 ปี แต่มักพบปัญหาการทำงานโดยตลอดทั้งภายในและภายนอก และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราถูกมองในแง่ลบจากนานาชาติ คือ ที่มาของคณะกรรมการ กสม.ที่ถูกกล่าวถึงว่ายังไม่หลากหลายพอ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหายังขาดความหลากหลาย ทั้งความเชื่อมโยง และอาชีพ ซึ่ง กรธ.ได้ปรับให้ชัดเจน บังคับให้มาจากหลากหลายด้านให้ครบถ้วน อีกทั้งพยายามสร้างกลไกการทำงานต้องทำเป็นทีม ร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหา
"กรธ.ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงกำหนดภารกิจของ กสม.ให้ชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมาปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราถูกมองในแง่ลบจากนานาชาติ คือ ที่มาของคณะกรรมการ กสม.ที่ถูกกล่าวถึงว่ายังไม่หลากหลายพอ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหายังขาดความหลากหลาย ทั้งความเชื่อมโยง และอาชีพ ซึ่ง กรธ.ได้ปรับให้ชัดเจน บังคับให้มาจากหลากหลายด้านให้ครบถ้วน" นายมีชัย กล่าว
นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดภารกิจของ กสม.ให้ชัดเจนขึ้น และเปิดโอกาสให้เสนอกฎหมายลูกให้สอดคล้องตามหลักการปารีสที่ไทยพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ในกฎหมายลูก ยังได้กำหนดให้กสม.ต้องทำแผนรายงานล่วงหน้า แล้วต้องทำให้ได้ตามนั้น หากทำไม่ได้ตามแผน ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ พร้อมยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้มีเจตนารมณ์มุ่งหวังให้ กสม. ไปเป็นโฆษกแก้ตัวให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ต้องการให้รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยไม่บิดเบือน และทำความจริงให้ปรากฎ
"เราพยายามสร้างกลไกให้สำนักงานเอื้อต่อการทำงานของคณะกรรมการ พยายามทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน และให้สำนักงานเป็นเครื่องมือของ คณะกรรมการ โดยมี 3 หลักการ คือ 1.การแสวงหา 2.การวิเคราะห์ โดยอาจให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำ และ 3.การหาทางแก้ไข ไม่ให้เกิดอีกในอนาคต"ประธาน กรธ. ระบุ